ตะคริว (Muscle cramp)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตะคริว (Muscle cramp หรือ Cramp) คือภาวะเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรุนแรงทันที โดยเราบังคับไม่ได้ ร่วมกับมีอาการปวด/เจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง โดยในขณะเกิดอาการ จะไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นได้ ซึ่งอาการเกิดได้กับกล้ามเนื้อทุกมัด อาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียว หรือหลายๆมัดพร้อมกันก็ได้

ตะคริวเกิดได้กับกล้ามเนื้อลาย (Striated muscle, กล้ามเนื้อ แขน ขา และของเนื้อเยื่อภายนอกร่างกาย เช่น แผ่นหลัง และกระดูกซี่โครง แต่ถ้าเป็นกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในจะเป็นกล้ามเนื้อเรียบ, Smooth muscle)ทุกมัด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ เกิดกับกล้ามเนื้อน่อง รองลงไป คือ กล้ามเนื้อเท้า และกล้ามเนื้อต้นขา โดยโอกาสเกิดกับกล้ามเนื้อข้างซ้ายและข้างขวาเท่ากัน

ตะคริวพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน แต่สถิติการเกิดตะคริวที่ชัดเจนยังไม่มี เพราะมักเป็นอาการที่หายได้เองจากการดู แลตนเอง จึงไม่มีการพบแพทย์ อย่างไรก็ตามคาดว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมักเคยเกิดมีอาการนี้ และประมาณ 40%ของคนกลุ่มนี้ อาจเกิดอาการได้ ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์

ตะคริวมีได้ 2 ประเภทคือ

  • ประเภทไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้บ่อยกว่า เรียกว่า ‘Idiopathic cramps’
  • และประเภททราบสาเหตุ เรียกวา ‘Secondary cramps’

ตะคริว เกิดได้ทั้งในช่วงกลางวันในระหว่างใช้งานกล้ามเนื้อ หรือช่วงกลางคืนในช่วงพักผ่อนซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขา เรียกว่า ‘Nocturnal leg cramp หรือ Night leg cramp’

ตะคริวเกิดได้อย่างไร? มีสาเหตุจากอะไร?

ตะคริว

ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นกลไกที่แท้จริงของการเกิดตะคริว แต่จากการศึกษาเชื่อว่า อาจเกิดได้จาก

  • กล้ามเนื้อมัดนั้นขาดการยืดตัว (Stretching) อย่างพอเพียง
  • และจากกล้ามเนื้อมัดนั้นล้า

ซึ่งทั้ง2ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการหดเกร็ง/ตะคริวของกล้ามเนื้อมัดนั้น และทั้ง 2ปัจจัยนี้ อาจมีสาเหตุได้จาก

  • สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ มวลกล้ามเนื้อจึงลดลง รวมทั้งขาดการออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ
  • ใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นเกินกำลัง เช่น เล่นกีฬาหนัก การยกของหนัก หรือในการงานอาชีพที่ต้อง ยืน เดิน นานๆ
  • ร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อ ที่สำคัญ คือ เกลือแร่ โปแตสเซียม /โพแทสเซียม (Potassium) แมกนีเซียม (Magnesium) และแคลเซียม (Calcium ) เช่น เสียเหงื่อมากจากการงาน การกีฬา หรืออากาศร้อน , หรือจากโรคเรื้อรังของอวัยวะที่ควบคุมเกี่ยวกับน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย เช่น โรคไตเรื้อรัง
  • ดื่มน้ำน้อย เซลล์กล้ามเนื้อจึงขาดน้ำ มักเป็นสาเหตุในผู้สูงอายุ
  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นเซลล์ทุกชนิดของร่างกายจะเสื่อมถอย ซึ่งรวมทั้งเซลล์กล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงพบอาการนี้ได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาลดกรดบางชนิด ยาลดไขมันบางชนิด หรือยารักษาทางจิตเวชบางชนิด
  • ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงมักขาดน้ำรวมทั้งกล้ามเนื้อ
  • โรคเรื้อรังของกระดูกสันหลัง และ/หรือไขสันหลัง จึงส่งผลให้ประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ(Spinal stenosis)
  • โรคเรื้อรังของปลายประสาทต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดส่วนปลายแข็ง จึงส่งผลให้การไหลเวียนโลหิต (เลือด) ไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด
  • โรคจากความผิดปกติทางฮอร์โมน เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ และการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด)
  • ความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย/กลุ่มอาการเมตาโบลิก(Metabolic syndrome) เช่น โรคเบาหวาน
  • โรคตับ และ/หรือ โรคไต เพราะทั้งสองอวัยวะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดตะคริว?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดตะคริว คือ

  • ผู้สูงอายุ
  • นักกีฬา การเล่นกีฬา คนในอาชีพต้องใช้แรงงาน และอยู่กลางแดด
  • คนท้อง เนื่องจากน้ำหนักท้องจะกดหลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องท้อง ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดมายังกล้ามเนื้อขาไม่ดี และกล้ามเนื้อขายังต้องแบกรับน้ำหนักของท้อง นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากฮอร์โมนเพศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • มีโรคเรื้อรังต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ
  • ยืน เดิน นั่ง นานๆ เพราะส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตของขาไม่ดี
  • นอนห่มผ้าห่มรัดช่วงขามากเกินไป โดยเฉพาะการปูเตียงนอนแบบตะวันตก (มักเป็นสาเหตุเกิดในช่วงกลางคืน) การไหลเวียนโลหิตบริเวณขาจึงลดลง
  • กินยาบางชนิด ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’

ตะคริวมีอาการอย่างไร?

อาการจากการเกิดตะคริว คือ

  • กล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวจะ แข็ง เกร็ง คลำได้เป็นก้อนแข็ง และปวด/เจ็บมาก อาการอาจคงอยู่ 1-2 นาที หรือนานได้ถึง 10-15 นาที
  • ซึ่งภายหลังกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจยังมีการปวด/เจ็บกล้ามเนื้อมัดนั้นอยู่ เป็นนาที หรือเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน แต่อาการปวด/เจ็บน้อยกว่าช่วงกล้ามเนื้อหดเกร็ง และยังสามารถใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นได้ตามปกติ

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของตะคริวได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยตะคริวได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ อาการ ประวัติการเล่น การทำงาน อาชีพ โรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่ ร่วมกับ
  • การตรวจร่างกาย

และแพทย์จะหาสาเหตุของตะคริวได้จาก

  • การสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆ
  • รวมทั้งอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดดูค่าเกลือแร่ในเลือด, ตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน, ตรวจเลือดดูฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์เมื่อสงสัยโรคของต่อมไทรอยด์
    • และ/หรือ เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ คลื่นแม่เหล็กเอมอาร์ไอ ดูภาพของ กระดูกสันหลัง ช่องสันหลัง และไขสันหลัง เมื่อสงสัยสาเหตุเกิดจากโรคของอวัยวะดังกล่าว

รักษาตะคริวได้อย่างไร?

โดยทั่วไปการรักษาตะคริว คือการดูแลตนเอง อาการมักหายได้เองภายในระยะเวลาเป็นนาที โดย

  • หยุด พัก การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเกิดตะคริว
  • นวด และยืด (Stretching) กล้ามเนื้อมัดเกิดตะคริวเบาๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว
  • ช่วงกล้ามเนื้อหดเกร็งมาก การประคบอุ่น/ประคบร้อน อาจช่วยบรรเทาอาการได้
  • ส่วนเมื่อปวด/เจ็บกล้ามเนื้อมาก การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการได้
  • กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวด ในช่วงหลังกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว แต่ไม่สามารถช่วยลดอาการปวดช่วงกล้ามเนื้อหดเกร็งได้ เพราะยายังออกฤทธิ์ไม่ทัน

ทั้งนี้ กรณีอาการตะคริวไม่ดีขึ้นและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แพทย์อาจรักษาโดย

  • ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากิน ยาฉีด ให้เกลือแร่ และ/หรือ ใช้ยาชา ซึ่งยาต่างๆเหล่านี้ยังให้ผลรักษาไม่ชัดเจน แต่ได้ผลดีในผู้ป่วยบางราย
  • อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจก่อผลข้างเคียงได้ เช่น
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ปวดศีรษะ
    • มีเสียงในหู/หูอื้อ
  • ผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้บางชนิด อาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และอาจก่อให้เกิดไตวายได้
  • *ดังนั้น ยาเหล่านี้ต้องให้การรักษาโดยแพทย์เท่านั้น อย่าซื้อยากินเอง ซึ่งการรักษาอาการตะคริวโดยการใช้ยาต่างๆมักอยู่ภายใต้คำแนะนำจากองค์กรทางการแพทย์ เช่น สภาโรคทางระบบประสาทแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Neurology) เป็นต้น

ตะคริวรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ตัวอาการตะคริวเอง เป็นอาการไม่รุนแรง และมักหายได้เองโดยเฉพาะตะคริวประเภทไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic cramp)

แต่ในตะคริวที่เกิดโดยมีสาเหตุ ตะคริวจะเป็นอาการหนึ่งของโรค ถึงแม้เป็นอาการที่ดูแลหายได้เอง แต่ต้องดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย มิเช่นนั้นก็จะเกิดตะคริวได้บ่อย ดังนั้นความรุนแรงของตะคริวในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงขึ้นกับสาเหตุ คือขึ้นกับแต่ละโรค เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

โดยทั่วไป ไม่มีผลข้างเคียงจากตัวอาการตะคริว ยกเว้นอาการปวดขณะเกิดอาการ หรือภายหลังเกิดอาการ ซึ่งมักหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง หรือเพียงกินยาแก้ปวด พาราเซตามอล (Paracetamol)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดตะคริว ได้แก่

  • การหยุดใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้น
  • การนวดและการยืดกล้ามเนื้อมัดเกิดอาการ เบาๆ
  • และการประคบอุ่น/ประคบร้อน หรือประคบเย็น ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’
  • นอกจากนั้น คือ การดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดตะคริวซ้ำหรือเกิดบ่อยๆ (อ่านเพิ่ม เติมใน ‘หัวข้อ การป้องกันฯ’)
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุ เพื่อการรักษาทั้งสาเหตุและตัวอาการตะคริว เมื่อ
    • มีอาการปวดมาก ไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองหลังจากตะตริวหายไป
    • อาการเป็นตะคริวไม่หายไปหลังดูแลตนเอง โดยเป็นนานเกินกว่า 30 นาที
    • เป็นตะคริวบ่อย
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันตะคริวได้อย่างไร?

การป้องกันการเกิดตะคริว ได้แก่

  • ดื่มน้ำให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม และให้พอ เพียงกับปริมาณน้ำที่ร่างกายเสียไป เช่น เมื่อเหงื่อออกมาก ท้องเสีย หรือ ปัสสาวะมาก
  • ไม่นั่ง นอน เดิน นานๆ
  • ฝึกยืด (Stretching) กล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวบ่อยๆเสมอ โดยดังกล่าวแล้วว่า ตะ คริวมักเกิดกับกล้ามเนื้อน่องและต้นขา ซึ่งสามารถฝึกทำได้โดยปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ออร์โทพีดิกส์/ Orthopaedics (แพทย์โรคกระดูกและข้อ) หรือนักกายภาพบำบัด ทั้งนี้การออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ
    • ควรทำวันละ 1-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-5 นาที (ครั้งสุดท้ายของวัน ควรเป็นก่อนเข้านอน เพื่อลดโอกาสเกิดตะคริวตอนกลางคืน)
    • ก่อนทำควรอบอุ่น (Warm up) กล้ามเนื้อด้วยการเดินเบาๆ ประมาณ 5 นาท
    • และเมื่ออาการตะคริวห่างออกไป สามารถลดการทำเหลือเพียงวันละครั้งได้ แต่ยังควรต้องทำต่อเนื่องตลอดไป

อนึ่ง สภาแพทย์ออร์โทพีดิกส์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Orthopaedic Surgeons, AAOS, https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/muscle-cramps ) ได้แนะนำท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อดังกล่าว ดังนี้

***** ข้อควรระวัง: ในการทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อในท่าต่างๆที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ อาจมีข้อจำกัดสำหรับบางคนซึ่งมีปัญหาโรค กระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อเกี่ยว พัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดก่อนลงมือปฏิบัติ และ/หรือ เมื่อขณะบริหาร ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บ ควรหยุดบริหาร ไม่ควรฝืนทำต่อไป

  • การยืดกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งเมื่อบริหารจะรู้สึกถึงการยืดตึงของกล้ามเนื้อน่องลงมาจนถึงส้นเท้า วิธีการ คือ ยืนตรง หลังตรง หันหน้าเข้าหาผนัง/กำแพงที่แข็งแรง ห่างประมาณ 2-3 ฟุต ฝ่าเท้าทั้งสองข้างตรง เท้าหลังห่างจากเท้าหน้าเล็กน้อย งอเข่าเท้าหน้าพอ ควร เท้าหลัง/ข้อเข่าเหยียดตรง มือ 2 ข้างยกยันกำแพงโดยเอนตัวไปข้างหน้าโดยแผ่นหลัง ต้องเหยียดตรงเสมอ และค้างไว้ประมาณ 15-30 วินาที สลับทำทั้ง 2 ข้างซ้ายและขวา ขณะทำฝ่าเท้าต้องวางราบกับพื้น เท้าหลังต้องชี้ตรงไปยังเท้าหน้าเสมอ
  • การยืดกล้ามเนื้อด้านหลังของต้นขา โดยนั่งกับพื้น หลังตรง เหยียดเข่าตรงไปด้านหน้า ขาชิดกันทั้ง 2 ข้าง เท้าอยู่ในท่าปกติ ส้นเท้าชิดกัน และค่อยลากฝ่ามือไปตามพื้นด้านข้างของขาทั้ง 2 ข้างไปจนถึงข้อเท้า โดยหลังตรงอย่าก้มหลังและเข่าเหยียดตรงเสมอ เมื่อรู้สึกว่ากล้ามเนื้อด้านหลังตันขาเหยียดเต็มที่แล้ว ค้างไว้ประมาณ 30 วินาที
  • การยืดกล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา โดยยืนตรง มือข้างหนึ่งจับพนักเก้าอี้ที่แข็งแรง ห่างจากเก้าอี้ประมาณ 1 ฟุต เท้าสองข้างชิดกัน พับข้อเข่าขึ้น 1 ข้าง ใช้มือข้างเดียวกัน จับข้อเท้าด้านยกขึ้น กดส้นเท้าเข้าหาบริเวณก้น จนรู้สึกได้ถึงการเหยียดตัวของกล้ามเนื้อหน้าขา (ไม่ต้องกดมาก) ค้างไว้ประมาณ 30 วินาที สลับทำอีกข้าง

อนึ่ง นอกจาก การยืดบริหารกล้ามเนื้อ การป้องกันตะคริวยังสามารถป้องกันได้โดย

  • หลีกเลี่ยง/งด การงาน หรือกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อเกินกำลัง เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬาหนัก
  • เมื่อต้องใช้กล้ามเนื้อทำงานหนัก ควรมีการอบอุ่น (Warm up) กล้ามเนื้อ ตามวิธีที่ถูกต้องก่อนเสมอ เช่น วิ่งเบาๆประมาณ 10 นาที
  • กิน ผัก ผลไม้ให้มาก เพราะมี วิตามิน และเกลือแร่ ที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อสูง เช่น โปแตสเซียม แมกนีเซียม วิตามิน บี และวิตามิน อี
  • สวมรองเท้าที่ไม่รัดเท้า เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณขาและเท้า
  • ขณะนอน ไม่ควรนอนห่มผ้าห่มรัดเท้าแน่น (การปูเตียงนอนแบบชาวตะวันตก)
  • สังเกตกิจกรรมต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดตะคริว แล้วหลีกเลี่ยง
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ

บรรณานุกรม

  1. Katttzberg, H. et al.(2010). Assessment:symptomatic treatment for muscle cramps (an evidence-based review): report of therapeutics and technology assessment subcommittee of the American Academy of Neurology. Neurology. 74,691-695
  2. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/muscle-cramps [2018,Dec15]
  3. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14170-leg-cramps-at-night/management-and-treatment [2018,Dec15]
  4. https://patient.info/health/cramps-in-the-leg [2018,Dec15]
  5. https://www.nhs.uk/conditions/leg-cramps/ [2018,Dec15]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Cramp [2018,Dec15]
  7. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/muscle-cramp [2018,Dec15]