ตรุษจีนระวังภัย ไข้หวัดนก (ตอนที่ 4 และตอนสุดท้าย)

อนุมสนธิข่าวเมื่อวันก่อน กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดโครงการรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดนก เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่กลุ่มผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีก และผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนปีนี้

ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องเข้าใจว่า ตามปรกติ เชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะไม่ปรากฏอาการ (Asymptomatic) สัตว์ปีกเลี้ยงที่เป็นพาหะมิได้เป็นโรคไข้หวัด แต่การเจ็บป่วยของสัตว์ปีกเลี้ยงเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ไวรัสในสัตว์ปีกสกุล (Species) หนึ่งแพร่พันธุ์ไปยังไวรัสสัตว์ปีกอีกสกุลหนึ่ง แต่ผลจากการเจ็บป่วยของสัตว์ปีกเลี้ยงก็เล็กน้อยมากจนอาจไม่สังเกตเห็น

ปัญหาที่เกิดขึ้นมักมาจากการที่ไวรัสในคนได้สร้างสายพันธุ์ย่อยไปติดเชื้อไวรัสในสัตวปีกที่เลี้ยง จนกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วไปเป็นไวรัสที่สามารถฆ่า 90% ของสัตว์ปีกเลี้ยงได้ใน 1 วัน แล้วยังแพร่กระจายไปยังสัตว์ปีกเลี้ยงฝูงอื่นที่อยู่ใกล้เคียง แล้วฆ่าอีก 90% ของฝูงนั้น การระบาดของเชื้อจะลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด จนกว่าจะฆ่าสัตว์ปีกเลี้ยงทุกๆ ตัวในบริเวณใกล้เคียง จึงจะระงับได้

เนื่องจากไข้หวัดนกเป็นโรคที่สามารถระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) จีงได้มีความพยายามคิดค้นนานาสูตรเพื่อต่อสู้กับไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในบางประเทศจะฉีดวัคซีนในสัตว์ปีกเลี้ยงเพื่อป้องกัน H5N1 ในขณะที่กำลังระบาดในสัตว์ (Epizootic) แม้บางวัคซีนบางใช้กับคนได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่อยู่ระหว่างทดลอง

วัคซีนที่ผลิตได้ยังไม่ได้ประสิทธิผลเพียงพอที่จะใช้กับสาธารณชน หรือผลิตได้ไม่มากพอที่จะป้องกันประชากรโลกได้ในกรณีที่เกิดการระบาด H5N1 ไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้รวบรวมรายชื่อของการทดลองทางการแพทย์ของวัคซีนต้นแบบ (Prototype) หลายชนิดรวมทั้งชนิดที่ต่อสู้กับ H5N1

หลังการเกิดเชื้อไวรัส H5N1 ในปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา มีการติดต่อของ H5N1 จากสัตว์ปีกสู่คน นำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรง จนนำไปสู่การตายในคน แต่เพราะอุปสรรคระหว่างสกุล (Species barrier) ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถติดต่อจากสัตว์ปีกไปยังคนได้ง่าย แม้ว่าในบางกรณีจะมีความพยายามในการวิเคราะห์ว่า การติดต่อระหว่างคนสู่คนเป็นไปได้หรือไม่ ยังต้องมีการวิจัยอีกมากเพื่อให้เข้าใจสาเหตุของการกิดโรค และระบาดวิทยาของไวรัส H5N1 ในคน เส้นเดินทางของไวรัสและลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ของการระบาด อาทิ ปัจจัยทางพันธุกรรมและภูมิคุ้มกัน

ตามข้อมูลของ WHO ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 แม้สัตว์ปีกต้องตายนับล้านๆ ตัว ตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อไวรัสนี้ในคน แต่มีคนเพียง 306 ที่ตายจาก H5N1 ใน 12 ประเทศ อันได้แก่ (ตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ) อะเซอไบจัน กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเชีย อิรัค ลาว ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยากลัวว่า การเกิดไข้หวัดนกคราวหน้า อาจทำให้ไวรัสดังกล่าวกลายพันธุ์จนสามารถติดต่อจากคนถึงคนได้ [อย่างรวดเร็ว]

ดังนั้น ศูนย์ควบคุมเชื้อโรคต่างๆ ทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญแก่ไข้หวัดนกเป็นพิเศษ องค์การเหล่านี้ส่งเสริมผู้ประกอบการเลี้ยงและค้าสัตว์ปีก ให้พัฒนาแผนการล่วงหน้า เพื่อป้องการการแพร่ระบาดของ H5N1 และสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการใส่เสื้อผ้าป้องกันคนทำงาน ที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์ปีก และแยกแยะฝูงสัตว์เป็นสัดส่วน

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.แนะนำผู้บริโภคสัตว์ปีกตรุษจีนเน้นสุกสะอาดปลอดหวัดนก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000009486 [2012, January 26].
  2. Avian influenza. http://en.wikipedia.org/wiki/Avian_influenza [2012, January 26].