ดูแลป้องกันฟัน ด้วยทันตาภิบาล (ตอนที่ 3 และตอนสุดท้าย)

ผลการสำรวจสุขภาพช่องปากประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ของประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2550 พบว่าเด็กอายุ 3 ขวบ มีฟันน้ำนมผุร้อยละ 61 พบในเด็กที่อยู่ในเขตชนบทร้อยละ 67 ในเขตเมือง ร้อยละ 55 สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5 ขวบ มีประสบการณ์ฟันผุร้อยละ 81 ในขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 12 ปี มีประสบการณ์ฟันผุร้อยละ 57 พบในภาคกลางสูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 64 และในกลุ่มอายุ 15 ปี มีฟันผุร้อยละ 66 พบในชนบทสูงกว่าในเขตเมือง

ส่วนในผู้ใหญ่ กลุ่มอายุ 35 – 44 ปี พบว่าร้อยละ 83 สูญเสียฟัน เฉลี่ยคนละเกือบ 4 ซี่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เสียฟันมากกว่ากลุ่มอื่น เฉลี่ยมากกว่า 10 ซี่ และยังพบฟันที่เหลือมีปัญหาผุที่รากฟันด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากทันตแพทย์และทันตาภิบาลตั้งแต่เด็ก จึงจะสามารถปลูกฝังพฤติกรรมการดูสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง และลดการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้

ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับยุทธศาสตร์การทำงานที่เน้นการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคเป็นหลัก และให้การรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยเบื้องต้นแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท แต่เนื่องจากการขาดแคลนทันตแพทย์ "ทันตาภิบาล" จึงเป็นทางออกของปัญหาที่ต้องแก้อย่างรีบด่วน

จากบทความเรื่อง "4 ทศวรรษ ทันตาภิบาลไทย" ของสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เกี่ยวกับทันตสาธารณสุขได้เสนอว่า โรคต่างๆ ภายในช่องปากนั้นเป็นโรคสำคัญ ที่จะทำให้สุขภาพของประชาชนดีหรือเสื่อมได้ แต่การบริหารงานที่เกี่ยวกับช่องปากและฟันของประชาชนนี้ ต้องดำเนินการทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน และบำบัดรักษา โดยส่วนราชการทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข

ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะให้ทันตาภิบางมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อให้ได้วุฒิปริญญาตรี โดยในปี พ.ศ. 2529 กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการเปิดหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต วิชาเอกทันตสาธารณสุข และเริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา

ในขณะเดียวกัน จากการรวมตัวกันของศิษย์เก่าก่อตั้งเป็นชมรมขึ้นในปี พ.ศ. 2530 จึงได้มีการชักชวนผลักดันให้ทันตาภิบาลใช้เวลาว่างในการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีโดยเน้นด้านสาธารณสุข จนในปัจจุบันมีทันตาภิบาลที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว ร้อยละ 90 และยังมีการศึกษาต่อเนื่องทั้งในระดับปริญญาโทและเอกอีกจำนวนมาก

แม้จะมีการแก้ปัญหาการกระจายทันตแพทย์ออกสู่ชนบทโดยโครงการทันตแพทย์คู่สัญญาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 แต่ทันตแพทย์รุ่นแรกเพิ่งจบออกมาทำงานเมื่อ พ.ศ. 2532 ในขณะที่ทันตาภิบาลรุ่นแรกจบมาปฏิบัติงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 และต้องให้บริการบำบัดรักษาทางทันตกรรมทั้งเด็กและผู้ใหญ่

การปฏิบัติงานที่เกินหน้าที่ความรับผิดชอบและความรู้ที่เรียนมาดังกล่าว ทำให้ทันตาภิบาลพยายามต้องดิ้นรนขวนขวายหาความรู้เพื่อจะได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะในหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary care unit: PCU) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพช่องปากประชาชนในระดับรากหญ้า แต่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ในระยะยาวได้

การปฏิบัติงานของทันตาภิบาลในสถานบริการแต่ละระดับค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดซึ่งจะเน้นเรื่องการบริหารจัดการด้านวิชาการด้วย แต่ในปัจจุบัน รัฐมีนโยบายปรับสถานีอนามัยที่มีความพร้อมเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ. สต.) จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามบทบาทของทันตาภิบาลต่อไป

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. วางแผนปี 55-56 ผลิตทันตาภิบาลได้ 3,200 คน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนใน รพ.สต. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000019513 [2012, Feb 15].
  2. 4 ทศวรรษ ทันตาภิบาลไทย สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย http://www.mohanamai.com/UserFiles/File/mnm20-1/P.17-23.pdf [2012, Feb 15].