ดูแลป้องกันฟัน ด้วยทันตาภิบาล (ตอนที่ 2)

นพ. นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่าน สถาบันพระบรมราชชนก ผลิตทันตาภิบาลในระบบปกติปีละ 300 – 400 คน ในกรณีการผลิตทันตาภิบาลแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้ จะเริ่มรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อาทิ หมู่บ้าน ตำบล หรือในอำเภอนั้นๆ เข้าศึกษาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่วิทยาลัยการสาธารณสุข สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งมี 7 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อสิ้นสุดการศึกษาในห้องเรียนแล้ว จะฝึกภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลชุมชน ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ หลังจากนั้นจะส่งไปปฏิบัติงานในภาคสนาม ณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ. สต.) ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน (อาทิ ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน) ใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไปหาทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน

จากบทความเรื่อง “4 ทศวรรษ ทันตาภิบาลไทย” ของสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย โรงเรียนทันตาภิบาลได้เปิดสอนนักเรียนรุ่นแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2511 ณ ศูนย์ฝึกอบรมอนามัยภาคกลาง จังหวัดชลบุรี ซึ่งก็คือวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรในปัจจุบัน หลักการของการเรียนการสอนคล้ายคลึงกับโรงเรียนทันตพยาบาล (Dental Nurse) ของประเทศนิวซีแลนด์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้เปิดสอนที่วิทยาลัยการสาธารณสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น เพิ่มอีกหนึ่งแห่ง และในช่วง ปี พ.ศ.2527 เปิดสอนอีก 5 แห่ง คือ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดยะลา จังหวัดตรัง จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุพรรณบุรี

ในปัจจุบัน วิทยาลัยดังกล่าว เปิดรับนักศึกษาประมาณปีละ 300– 400 คน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเดิมในการรับสมัครเข้าเรียนคือ กำหนดให้เป็นคนในพื้นที่เพื่อป้องกันการโยกย้าย และเมื่อจบการศึกษาไปแล้วได้กำหนดบทบาทหน้าที่เพื่อดูแลทันตสุขภาพของเด็กวัยก่อนเรียนและเด็กชั้นประถมศึกษาอายุไม่เกิน 14 ปี

ขอบเขตในการปฏิบัติงานก็คือภายในคลินิกทันตกรรมของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีการตรวจและบันทึกภาวะผิดปกติของฟัน ทำความสะอาดฟัน อุดฟันถาวรและฟันน้ำนมที่ผุ ถอนฟันน้ำนมและฟันถาวรโดยใช้ยาชา (Local anesthesia) เฉพาะตำแหน่ง และการทายาเพื่อป้องกันฟันผุ

นอกจากนี้ ยังพิจารณาจัดส่งเด็กที่มีการสบฟันผิดปกติหรือความพิการอื่นๆ ที่นอกเหนือขอบเขตการปฏิบัติงานของตนไปรับการบำบัดรักษาจากทันตแพทย์และให้ทันตสุขศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศเป็นกฎกระทรวง กำหนดให้ทันตาภิบาลสามารถดูแลสุขภาพช่องปากผู้ใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการขยายกรอบทันตาภิบาลไปที่สถานีอนามัยขนาดใหญ่ ซึ่งมีความพร้อมที่จะให้การดูแลและส่งเสริมสุขภาพช่องปากได้ ตามโครงการ “ทศวรรษแห่งการพัฒนาสถานีอนามัย” (ทสอ.) และการปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับองค์กรอื่นๆ เพื่อร่วมกันค้นหาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทันตสุขภาพ โดยต้องอาศัยองค์ความรู้ที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้จากหลักสูตร 2 ปีที่เคยเล่าเรียนมาประกอบกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้ทันตาภิบาลต้องหาทางพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองเพราะหน่วยงานต้นสังกัดไม่สามารถจัดการให้ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. วางแผนปี 55-56 ผลิตทันตาภิบาลได้ 3,200 คน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนใน รพ.สต. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000019513 [2012, Feb 15].
  2. 4 ทศวรรษ ทันตาภิบาลไทย สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย http://www.mohanamai.com/UserFiles/File/mnm20-1/P.17-23.pdf [2012, Feb 15].