ดื้อยาแอนติไบโอติค (ตอนที่ 1)

ดื้อยาแอนติไบโอติค

ในงานแถลงข่าว "สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2558" ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาถือเป็นวิกฤตหนึ่งของทั่วโลกรวมถึงไทย โดยในแต่ละปีจะมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 38,000 คน

และแม้ว่าจะยังไม่มีการเก็บตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างจริงจัง แต่จากงานวิจัยคาดการณ์ว่า แต่ละวันมีคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเฉลี่ยวันละประมาณ 100 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลก จึงมีการจัดงานดังกล่าวขึ้นทุกปี เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุสมผล และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรีย

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในปัจจุบันพบมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาจุลชีพของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึง กพย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเน้นการทำงานของภาคส่วนต่างๆ และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในการจัดการปัญหาดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้แทน สสส. กล่าวว่า การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยานั้น สสส.ได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะ กพย.ในการรณรงค์ให้ความรู้และความเข้าใจในการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผล รวมไปถึงสถาบันการศึกษา เครือข่ายพ่อแม่ และเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ ให้ใช้ยาต่อเมื่อเฉพาะจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

โดย 3 กลุ่มโรคที่ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านแบคทีเรียแต่พบว่ามีการใช้ยาต้านแบคทีเรียเป็นจำนวนมาก คือ

  1. หวัด เจ็บคอ
  2. ท้องเสีย
  3. บาดแผลสดเล็กน้อย

โดย สสส.จะสนับสนุนการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาทำเป็นสื่อที่ให้ความรู้ง่ายๆ แก่ประชาชน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลลงไปได้

แหล่งข้อมูล

1. ไทยตายจากเชื้อดื้อยาวันละ 100 ราย สูงกว่าทั่วโลก เตือนพ่อแม่เลี่ยงใช้ยาต้านแบคทีเรีย เหตุลูกเสี่ยงอ้วน-ภูมิแพ้. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000130243 [2015, December 6].