ดิลไทอะเซม (Diltiazem)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) คือ ยาในกลุ่ม Calcium channel blocker ทางแพทย์นำมารักษาโรคความดันโลหิตสูง ,ภาวะหัวใจขาดเลือด, และอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ในบางกรณีแพทย์ยังได้นำยานี้ไปใช้รักษาอาการปวดหัวไมเกรนอีกด้วย

ผลข้างเคียงที่พึงระวังจากยาดิลไทอะเซม ได้แก่ อาการความดันโลหิตต่ำ และภาวะหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาดิลไทอะเซม จะเป็นยาชนิดรับประทาน และยาฉีด

โดยตัวยาดิลไทอะเซมสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 40% อวัยวะตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาดิลไทอะเซมอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 4.5 ชั่วโมง ในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาดิลไทอะเซมลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease)

การใช้ยาดิลไทอะเซม บผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยหยุดหรือปรับขนาด รับประทานด้วยตนเอง

ดิลไทอะเซมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ดิลไทอะเซม

ยาดิลไทอะเซมมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรค/ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • รักษาโรค/อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmias)

ดิลไทอะเซมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดิลไทอะเซมคือ ตัวยาจะช่วยขยายหลอดเลือดแดงโดยออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมประจุแคลเซียมในบริเวณผนังหลอดเลือดแดงและกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังช่วย เพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้เกิดฤทธิ์การรักษา ตามสรรพคุณ

ดิลไทอะเซมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดิลไทอะเซมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 30, 60 และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาด 90, 100, 120, 180, 200, 240, 300 และ 360 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีด ขนาด 10 และ 50 มิลลิกรัม/ขวด

ดิลไทอะเซมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดิลไทอะเซมมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris):

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเช้า - กลางวัน - เย็น หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 360 - 480 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลและผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กที่ป่วยเป็นโรค หัวใจขาดเลือด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข. สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง (Hypertension):

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 60 - 120 มิลลิกรัมเช้า - เย็น หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับ ประทานได้ถึง 360 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: รับประทาน 1.5 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันทุก 8 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาเกิน 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 360 มิลลิกรัม/วัน

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดิลไทอะเซม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดิลไทอะเซมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาดิลไทอะเซม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ดิลไทอะเซมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดิลไทอะเซมสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปวดหัว
  • บวมบริเวณข้อเท้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • วิงเวียน
  • อ่อนแรง
  • ใบหน้าแดง
  • คลื่นไส้
  • รู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร
  • อาจพบผื่นคัน
  • ผิวหนังมีสะเก็ดลอก
  • ผื่นแพ้แสงแดด
  • อาจเกิดตับอักเสบ

*****อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบ อาการช็อกจากหัวใจเต้นช้า และจากมีความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (ECG) ผิดปกติ, บางคนอาจพบภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจหยุดเต้น , ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยใช้วิธีล้างท้องและให้ยาถ่านกำมันต์ (Activated charcoal) กับผู้ป่วยเพื่อลดปริมาณยาที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้ดิลไทอะเซมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดิลไทอะเซม เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ, ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย/ Porphyria (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยากที่มีความผิดปกติของเอนไซม์สร้างสารฮีมของเม็ดเลือดแดง), ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ, ผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับและ/หรือไตทำงานผิดปกติ, ผู้ป่วยที่มีอาการของหัวใจเต้นผิดปกติ, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์โดยเคร่งครัด
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า, และผู้ที่ใช้ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta blocker), หรือยา Digitalis , ด้วยอาจทำให้เกิดการพัฒนาเป็นโรคหัวใจได้มากยิ่งขึ้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดิลไทอะเซมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ดิลไทอะเซมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดิลไทอะเซมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับ ยาลดกรด เช่นยา Cimetidine สามารถเพิ่มความเข้มข้นของยาดิลไทอะเซมในกระแสเลือด และส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาดิลไทอะเซมติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับ ยา Atenolol สามารถเพิ่มผลข้างเคียงของยาดิลไทอะเซมได้ มากยิ่งขึ้น เช่น อาจพบอาการปวดหัว, เป็นลม, บวมปลายมือ – เท้า, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับ ยารักษาโรคเกาต์ เช่นยา Colchicine สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เช่น ส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติของ กล้ามเนื้อ, เม็ดเลือด, รวมถึงระบบประสาทและอวัยวะอื่นๆของร่างกาย อาทิ ตับและไตอีกด้วย, การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับลดขนาดของยา Colchicine ลง หรือเว้นช่วงการใช้ยาให้ห่างกัน 14 วันเป็นอย่างต่ำ
  • การใช้ยาดิลไทอะเซม ร่วมกับยา Cisapride สามารถทำให้ระดับยา Cisapride ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการ วิงเวียน เป็นลม อึดอัด และหายใจไม่ออก/หายใจลำบากร่วมด้วย เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาดิลไทอะเซมอย่างไร?

สามารถเก็บยาดิลไทอะเซม:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ดิลไทอะเซมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดิลไทอะเซม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Angizem (แอนไจเซม) Sun Pharma
Cardil CR (คาร์ดิล ซีอาร์) Orion
Cascor XL (แคสคอร์ เอ็กซ์แอล) Ranbaxy
Denazox (เดนาซอก) Remedica
Dilcardia (ดิลคาร์เดีย) J.B. Chemicals
Dilem (ดิเลม) Douglas
Dilizem (ดิลิเซม) Berlin Pharm
Diltec (ดิลเทค) Utopian
Dilzem (ดิลเซม) Central Poly Trading
Ditizem (ดิทิเซม) Siam Bheasach
Herbesser 30/Herbesser 60 (เฮอร์เบสเซอร์ 30/เฮอร์เบสเซอร์ 60) Mitsubishi Tanabe Pharma
Herbesser 90 SR (เฮอร์เบสเซอร์ 90 เอสอาร์) Mitsubishi Tanabe Pharma
Herbesser Injection (เฮอร์เบสเซอร์ อินเจคชั่น) Mitsubishi Tanabe Pharma
Herbesser R100/Herbesser R200 (เฮอร์เบสเซอร์ อาร์100/เฮอร์เบสเซอร์ อาร์ 200) Mitsubishi Tanabe Pharma
Progor (โพรกอร์) SMB Technology

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Diltiazem [2021,Feb20]
  2. https://www.mims.com/philippines/drug/info/dilzem?type=full [2021,Feb20]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/diltiazem-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Feb20]
  4. https://reference.medscape.com/drug/cardizem-cd-diltiazem-342374 [2021,Feb20]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=diltiazem [2021,Feb20]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=diltiazem&page=0 [2021,Feb20]
  7. https://www.empr.com/drug/cardizem/ [2021,Feb20]
  8. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/diltiazem-oral-route/proper-use/drg-20071775 [2021,Feb20]