ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index Category)

คำแนะนำในการแบ่งกลุ่มความปลอดภัยของการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หรือ ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ตามการจัดกลุ่มยาของคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ อเมริกา (United states Food and Drug administration: US FDA) โดยได้จัดกลุ่มยาตามช่อง ทางการบริหารยา/การใช้ยา เฉพาะยาที่ให้เข้าสู่ร่างกาย/ยาที่ถูกดูดซึมทางกระแสเลือด เช่น ทาง การรับประทาน หรือทางการฉีด ยกเว้นทางผิวหนัง ทั้งนี้ ยาที่ใช้ทางผิวหนัง จะไม่มีการจัดกลุ่มยาในหญิงตั้งครรภ์ เหมือนกับยาที่ถูกดูดซึมทางกระแสเลือด เพราะโดยทั่วไป ยาที่ใช้ทางผิวหนังจะถูกดูดซึมน้อย ถ้าไม่ใช้ยาเป็นบริเวณกว้าง, ใช้ปริมาณมาก, และ/หรือใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การแบ่งกลุ่มยาตามลำดับ/ประเภท/กลุ่ม (Category) ความปลอดภัยต่อมารดาและทารกในครรภ์ (ความปลอดภัยของการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์) โดยคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ อเมริกา จะจัดแบ่งกลุ่มยาบนพื้นฐานความเสี่ยงของผลข้างเคียงของยาต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนาการของทารกในครรภ์ ร่วมกับการพิจารณาความเสี่ยงฯกับประโยชน์ที่ได้รับจากยาของทั้งมารดาและของทารกในครรภ์ ทั้งนี้ได้แบ่งลำดับ/ประเภท/กลุ่มความปลอดภัย เป็น 5 ลำดับ/ประเภท/กลุ่ม คือ ลำดับ/ประเภท/กลุ่ม A, B, C, D, และ X

ยาในกลุ่ม D, X และยาบางกลุ่มของลำดับ C อาจจะมีความเสี่ยงคล้ายกัน แต่อาจจัดอยู่ในกลุ่มที่แตกต่างกันบนพื้นฐานจากการพิจารณาความเสี่ยงที่ต่างกัน กับประโยชน์ที่ได้รับจากยาทั้งของมารดาและของทารกในครรภ์

Category A: จากการศึกษาในมนุษย์พบว่า ยาในกลุ่มนี้ ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อให้ เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์เมื่อใช้ในช่วง 3 เดือนแรก/ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์เมื่อใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และที่ 3 ดังนั้นยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้ สตรีมีครรภ์จึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยเมื่อใช้ในขนาดยาที่ถูกต้อง

ยาในกลุ่มนี้มีน้อยชนิด เช่น วิตามิน บี 9 (โฟลิก แอซิด/Folic acid) แต่ดังกล่าวแล้วว่า ยังต้องขึ้นกับขนาดยาด้วย ดังนั้น การใช้ยาต่างๆในลำดับ A ในหญิงตั้งครรภ์ จึงยังควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อพิจารณาเลือกใช้ขนาดยาที่สมควร

Category B: จากการศึกษาในสัตว์ พบว่ายาที่จัดอยู่ในประเภทนี้ไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้นยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้ สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้อย่างค่อนข้างปลอดภัยในระดับหนึ่ง โดยต้องขึ้นกับขนาดยา และควรได้รับการสั่งใช้ยาจากแพทย์เช่นกัน

ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้กันบ่อย เช่น ได้แก่ Chlorpheniramine (CPM), Paracetamol, Amoxicil lin เป็นต้น

Category C: จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้นการจะใช้ยาในประเภทนี้ ควรใช้เมื่อมีการประเมินจากแพทย์ระหว่างประโยชน์ที่ได้จากการใช้ยา และความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ว่า เกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้บ่อย เช่น Norfloxacin, Gentamicin เป็นต้น

Category D: ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้ มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์มนุษย์ ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีการพิจารณาแล้วว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์มาก กว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ซึ่งมักจะเป็นการใช้ยาเพื่อช่วยชีวิตมารดา หรือเป็นการใช้ยาเพื่อรักษาโรคที่รุนแรง ซึ่งไม่สามารถใช้ยาที่ปลอดภัยมากกว่าได้ หรือใช้ยาอื่นไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้บ่อย เช่น ยาคลายเครียดบางกลุ่ม เช่น Diazepam, Alprazolam เป็นต้น

Category X: จากการศึกษาในสัตว์และในมนุษย์พบว่า ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนสัตว์และทารกในครรภ์มนุษย์ และมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากยา

ดังนั้นยาในประเภทนี้จัดเป็นยาที่ “ห้ามใช้” ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่มีความเสี่ยงที่จะตั้ง ครรภ์

ยาในกลุ่มนี้ เช่น Ergotamine (Cafergot/ยารักษาอาการปวดศีรษะจากบางสาเหตุ เช่น ไมเกรน) เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นยาห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์?

ส่วนการที่ผู้ป่วยจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นยาห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ อันนี้ต้องถามแพทย์และเภสัชกร เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดให้มีการระบุไว้ในฉลากยา

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่ใช้เป็นคู่มือในการใช้ยา MIMS (Medical Information manage ment System/หนังสือที่รวบรวมยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย) ที่ส่วนใหญ่มีอยู่ในร้ายขายยา และ โรงพยาบาลทั่วไป จะมีการระบุในบรรทัดสุดท้ายของรายการชื่อยานั้นๆ เช่น “US FDA Preg Cat,: B” เป็นต้น

อนึ่ง

  • ถ้าไม่มีระบุในฉลากยา กรณีการตั้งครรภ์ ถ้าจะใช้ยาตัวนั้น ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนใช้ยานั้นๆเสมอ
  • ถ้ากินยาไปแล้วมารู้ภายหลังว่า ยาอันตราย ให้หยุดยานั้นทันที แล้วปรึกษาแพทย์ทันที (จดชื่อยา และ/หรือนำยานั้นไปพบแพทย์ด้วย)

หลักการใช้ยาสำหรับหญิงตั้งครรภ์

หลักในการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่

  • หญิงตั้งครรภ์ควรทานยาในปริมาณให้น้อยที่สุด และทานเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • พยายามทานยาให้เป็นระยะเวลาสั้นที่สุด เมื่อหายแล้วให้หยุดยาทันที แต่อย่าหยุดยาเอง ถ้าเป็นยาจากแพทย์สั่ง
  • พยายามไม่ทานยาหลายชนิดพร้อมกันในการรักษาโรคในระหว่างตั้งครรภ์ ยกเว้นเป็นยาที่แพทย์สั่ง
  • พยายามเลือกใช้ยาชนิดที่มีการใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว (ไม่เลือกยาชนิดที่เพิ่งออกสู่ตลาด) เป็นที่รู้จักกันดี เพราะจะทราบผลข้างเคียงต่างๆของยาเป็นอย่างดี
  • วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ ควรต้องปรึกษาแพทย์ และ/หรือ เภสัชกร ทุกครั้งก่อนใช้ยา

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณ/ยาแผนไทยทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน และโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ที่การใช้ยา นอกจากจะต้องคำนึงถึงผลต่อตัวมารดาเองแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลต่อทารกในครรภ์ควบคู่ไปด้วยเสมอ ดังนั้นการใช้ยาของหญิงตั้งครรภ์ จึงยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ นอกจากต้องปฏิบัติตาม “ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด”แล้ว ยังต้องปฏิบัติตาม “หลักการใช้ยาสำ หรับหญิงตั้งครรภ์” ดังกล่าวแล้วในตอนต้น (ในหัวข้อเรื่องนี้) ควบคู่กันไปด้วยเสมอ

บรรณานุกรม

  1. http://competencyrx.com [2014,Jan18].
  2. http://www.pharmacy.cmu.ac.th/dic/guideline/pregnancy%20index.htm [2014,Jan18].