ดอกซีไซคลิน (Doxycycline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) มีฤทธิ์ยับยั้งและต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ในต่างประเทศบริษัทไฟเซอร์ได้นำมาจัดจำหน่ายในชื่อ Vibramycin คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับรองและอนุมัติการนำมาใช้ในวงการแพทย์เมื่อปี ค.ศ.1967 (พ.ศ. 2510) ประเทศไทยยังมีจำหน่ายในชื่อการค้าอื่นอีกมากมาย

หลังจากได้รับยาดอกซีไซคลินเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ต้องใช้เวลา 15 – 25 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% (Half life) โดยขับออกผ่านไปกับปัสสาวะ

ดอกซีไซคลินจัดเป็นกลุ่มยาอันตราย มีผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) มากมาย การใช้ยานี้จึงต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้ทำการรักษา ไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง

ยาดอกซีไซคลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ดอกซีไซคลิน

ยาดอกซีไซคลินมีสรรพคุณดังนี้ คือ

  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องทางเดินหายใจ
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณ มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่
  • รักษาสิว
  • รักษาโรค Lyme disease (โรคติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Borrelia ที่มีเห็บในสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าเป็นพาหะโรค เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศเขตอเมริกาเหนือ โดยก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาท หัวใจ และข้ออักเสบ)

ยาดอกซีไซคลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของดอกซีไซคลิน คือ ยาจะเข้าไปจับกับสารพันธุกรรมของแบคทีเรียที่เรียกว่า 30s & 50s Ribosomal subunits ส่งผลทำให้แบคทีเรียไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีกต่อ ไป

ยาดอกซีไซคลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยยาดอกซีไซคลิน จัดจำหน่ายในรูปแบบ

  • ยาแคปซูลขนาด 100 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ดขนาด 100 มิลลิกรัม

ยาดอกซีไซคลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดอกซีไซคลินมีขนาดรับประทาน ดังนี้

ผู้ใหญ่ – รับประทานเริ่มต้น 200 มิลลิกรัม วันละครั้ง จากนั้นปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง

เด็ก – เริ่มต้นใช้ขนาดยา 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นปรับขนาดรับประทาน เป็น 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยรับประทานวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง

ควรรับประทานดอกซีไซคลินพร้อมหรือหลังอาหารและดื่มตามด้วยน้ำเปล่าไม่ควรรับประ ทานยาพร้อมนม การปรับเปลี่ยนขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับแต่ละโรค ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาดอกซีไซคลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาที่ได้รับอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย

ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาดอกซีไซคลิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาดอกซีไซคลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาดอกซีไซคลิน คือ อาจทำให้ฟันมีสีคล้ำ สามารถพบเห็นได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่, มีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร, มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง, และหากใช้ยาดอกซีไซคลินอย่างไม่ถูกต้อง อาจมีเชื้อแบคทีเรียอื่นแทรกซ้อน เกิดภาวะกดไขกระดูก (ไขกระดูกทำงานลดลง) และแพ้แสงแดดได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซีไซคลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาดอกซีไซคลิน คือ

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาดอกซีไซคลิน
  • ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ขวบ
  • เพิ่มความระวังหากต้องใช้ยากับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคตับ และผู้ป่วยด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอม จี(Myasthenia gravis)
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (ที่รวมยาดอกซีไซคลิน) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาดอกซีไซคลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาดอกซีไซคลินกับยาอื่น คือ

  • การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับวิตามินบางตัว อาจก่อให้เกิดภาวะความดันในสมองเพิ่มขึ้น และนำมาซึ่งอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นไม่ชัดเจน ยากลุ่มวิตามินดังกล่าว เช่น วิตามินเอ
  • การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับยาลดกรดบางกลุ่ม สามารถลดประสิทธิภาพในการรักษาของดอกซีไซคลิน ทำให้อาการติดเชื้อไม่ดีขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรต้องปรับระยะ เวลาของการรับประทานยาให้ห่างกัน 2 – 3 ชั่วโมง ยาลดกรดดังกล่าว เช่น Alum milk, Aluminium hydroxide และ Magnesium hydroxide
  • การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่น สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ร่วมกันด้อยลงไป ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่น Amoxicillin, Ampicillin, Penicillin
  • การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับยาขยายหลอดลมบางตัว สามารถส่งผลให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอนไม่หลับ ชักเกร็ง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาขยายหลอดลมดังกล่าว เช่น Theophylline

ควรเก็บรักษายาดอกซีไซคลินอย่างไร?

ควรเก็บยาดอกซีไซคลินภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius) บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ยาดอกซีไซคลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ในประเทศไทย ยาดอกซีไซคลินมีชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amermycin (อเมอร์มายซิน)Unison
Cin-Doxy (ซิน-ดอกซี)Medicine Products
Docline Atlantic (ดอกคลิน แอทแลนติก)Atlantic Lab
Docyl (โดซิล)Unison
Doxin (ดอกซิน)Asian Pharm
Doxin The Forty-Two (ดอกซิน เดอะ โฟร์ตี-ทู)The Forty-Two
Doxine (ดอกซิน)Utopian
Doxinin (ดอกซินิน)Inpac Pharma
Doxinpac (โดซินแพค)Inpac Pharma
Doxy (ดอกซี)Masa Lab
Doxyclate (ดอกซีเคลท)T. O. Chemicals
Doxycline (ดอกซีคลิน)General Drugs House
Doxycom (ดอกซีคอม)Community Pharm PCL
Doxycycline Osoth (ดอกซีไซคลิน โอสถ)Osoth Interlab
Doxyhof (ดอกซีฮอฟ)Pharmahof
Doxylcap (ดอกซิลแคพ)Bangkok Lab & Cosmetic
Doxylin (ดอกซิลิน)T P Drug
Doxyman-100 (ดอกซีแมน-100)T. Man Pharma
Doxymed (ดอกซีเมด)Medicpharma
Doxy-P (ดอกซี-พี)P P Lab
Madoxy (มาดอกซี)Pharmadica
Medomycin (เมโดมายซิน)Medochemie
Poli-Cycline (โพลี-ไซคลิน)Polipharm
Pondoxcycline (พอนดอกไซคลิน)Pond’s Chemical
Siadocin (ซิอโดซิน)Siam Bheasach
Torymycin (โทรีมายซิน)Chinta
Veemycin (วีมายซิน)Osoth Interlab
Vibramycin (ไวบรามายซิน)Pfizer
Viprocin (ไวโพรซิน)Inpac Pharma

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Doxycycline [2014,April10].
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vibramycin/?q=doxycycline&type=brief [2014,April10].
3. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=doxycycline [2014,April10].
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/doxycycline-index.html?filter=2 [2014,April10].
5. http://www.drugs.com/cdi/doxycycline-capsules.html [2014,April10].