ดอกซาแพรม (Doxapram)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดอกซาแพรม(Doxapram หรือ Doxapram hydrochloride) เป็นยากลุ่มไพโรลิโดน (2-pyrrolidone, สารประกอบอินทรีย์/Organic compoundชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ผลิตเป็นยาได้หลายชนิด) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นการหายใจหลังจากการผ่าตัด หรือใช้ช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจอย่างกะทันหันจากสาเหตุได้รับยาบางประเภทเกินขนาด เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้จะเป็นยาฉีด ตัวยามีกลไกออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจที่สมองให้ทำงานโดยการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วย ยานี้มีใช้แต่ในสถานพยาบาลโดยเฉพาะในห้องไอ.ซี.ยู./ห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU, Intensive care unit) ห้องผ่าตัด หรือห้องฉุกเฉิน

อนึ่ง จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ส่งผลให้ยานี้มีข้อจำกัดการใช้บางประการที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาดอกซาแพรม เช่น

  • ผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด ผู้ป่วยมีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน ผู้ที่อยู่ในภาวะหอบหืด ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ผู้ที่มีภาวะสมองบวม ผู้มีความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ห้ามใช้ยาดอกซาแพรม ด้วยจะทำให้อาการป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากขึ้น
  • ผู้ป่วยบางกลุ่มอยู่ในข่ายที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากจำเป็นต้องใช้ยาดอกซาแพรม อาทิเช่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะชีพจรเต้นผิดปกติ ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ยาบางกลุ่มอาจทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)เมื่อใช้ร่วมกับยาดอกซาแพรม เช่นยา Aminophylline, MAOIs, และ Sympathomimetics การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาดอกซาแพรม อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาดอกซาแพรมมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไร และใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ด้วยยังไม่มีข้อมูลความ ปลอดภัยทางคลินิกมาสนับสนุนอย่างเพียงพอในการใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับทารกแรกคลอด ด้วยส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาดอกซาแพรมมีสารประเภทเบนซิล แอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol) ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ทารก เกิดอาการชัก และเกิดปัญหาด้านการหายใจตามมา จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

นอกจากนั้น การใช้ยาดอกซาแพรมอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางอย่าง เช่น อาการแพ้ทางผิวหนัง(เกิดผื่นคันทั่วตัว) ไอ ท้องเสีย รูม่านตาขยาย วิงเวียน หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก และอาเจียน

กรณีที่มีข้อผิดพลาดจนทำให้ผู้ป่วยได้รับยาดอกซาแพรมเกินขนาด อาจสังเกตได้ จากอาการ ตัวสั่น รู้สึกสับสน ไอ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อทำงานไวเกิน/กล้ามเนื้อกระตุก การตอบสนองต่อสิ่งเร้าเปลี่ยนแปลงไป(อาจตอบสนองมากหรือน้อยกว่าปกติ) รวมถึงมีภาวะเหงื่อออกมาก หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบโดยเร็ว

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลของยาดอกซาแพรมเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรจากสถานพยาบาลได้โดยทั่วไป

ดอกซาแพรมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดอกซาแพรม

ยาดอกซาแพรมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • กระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่ได้รับยาสลบเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • ช่วยกระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นจากได้รับยาต่างๆเกินขนาด
  • ช่วยกระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยโรคปอดบางประเภทที่มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเกิน เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ดอกซาแพรมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาดอกซาแพรมมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อศูนย์ควบคุมการหายใจในบริเวณก้านสมอง หลังจากฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยแล้ว ประมาณ 20–40 วินาที ตัวยาจะเริ่มกระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในก้านสมองที่มีชื่อว่า Chemoreceptors และออกฤทธิ์ภายใน 1–2 นาที โดยจะส่งผลต่อสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้ผู้ป่วยเริ่มหายใจได้อย่างปกติ ระยะเวลาที่ยานี้ออกฤทธิ์อาจอยู่ได้นาน 5–12 นาที ขณะมีการกระตุ้นจาก ยาดอกซาแพรม จะไม่ก่อให้กระทบต่อการทำงานของหัวใจ เพียงแต่ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจจะน้อยกว่าปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจในภาวะปกติ จากกลไกที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ดอกซาแพรมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดอกซาแพรมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของตัวยา Doxapram hydrochloride 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยขนาดบรรจุ 20 มิลลิลิตร/ขวด

ดอกซาแพรมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ตัวอย่างขนาดการบริหารยา/ใช้ยาดอกซาแพรม เช่น

ก. สำหรับกระตุ้นการหายใจของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด (Postoperative respiratory depression):

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาขนาด 0.5 – 1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำ โดยใช้เวลาในการให้ยานานประมาณ 30 วินาทีเป็นอย่างต่ำ อาจต้องให้ยาซ้ำทุกๆชั่วโมง หากจำเป็น แพทย์อาจหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 2–5 มิลลิกรัม/นาที จากนั้นอาจลดขนาดการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำลงมาเป็น 1–3 มิลลิกรัม/นาที ทั้งนี้แพทย์จะดูการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้เป็นสำคัญในการปรับวิธีการ/ขนาดการใช้ยานี้ ทั้งนี้ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ข. สำหรับกระตุ้นหายใจเมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจแบบเฉียบพลัน (Acute respiratory failure):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 1.5 – 4 มิลลิกรัม/นาที

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ระหว่างการให้ยานี้จะต้องตรวจสอบสัญญาณชีพของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิต ชีพจร/อัตราการเต้นของหัวใจ และต้องคอยตรวจสอบการทำงานของ กล้ามเนื้อว่ามีภาวะกล้ามเนื้อกระตุกหรือไม่
  • การใช้ยาดอกซาแพรมฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา กรณีหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ให้เจือจางยานี้ โดยใช้สารน้ำ Dextrose 5% หรือน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ หรือสารละลายน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ เป็นสารละลายเจือจางยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดอกซาแพรม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคลมชัก โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดอกซาแพรม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาให้ควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไป การใช้ยาดอกซาแพรม จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ภายในห้องผ่าตัด ห้องไอซียู หรือห้องฉุกเฉิน ประกอบกับต้องใช้เครื่องวัดสัญญาณชีพคอยเฝ้าควบคุมอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โอกาสที่ลืมฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก

ดอกซาแพรมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดอกซาแพรมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายมาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน วิงเวียน ปวดศีรษะ มีภาวะชัก การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองช้าลง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก หน้าแดง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ฮีโมโกลบินลดลง เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด มีอัลบูมิน/Albuminในปัสสาวะ/โปรตีนในปัสสาวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว มีภาวะกล้ามเนื้อกระตุก/สั่น
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อาจพบอาการหวาดระแวง เกิดความงุนงง/สับสน ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ หายใจเร็ว หลอดลมหดเกร็งตัว/หลอดลมตีบ/หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ดอกซาแพรมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซาแพรม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับทารกแรกเกิด
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป หรือมีเศษผงในยา
  • การใช้ยาดอกซาแพรมต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และมีเครื่องมือวัดสัญญาณชีพ/เครื่องมือช่วยชีวิตอย่างพร้อมเพรียง
  • ระหว่างการให้ยานี้ต้องตรวจวัด ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ/ชีพจร และการตอบสนองของการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง
  • กรณีพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาดอกซาแพรม แพทย์จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการ ด้วยปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษของยาดอกซาแพรม
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดอกซาแพรม) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ดอกซาแพรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดอกซาแพรมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาดอกซาแพรมร่วมกับยา Albuterol(Salbutamol), Pseudoephedrine, อาจทำให้ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาดอกซาแพรมร่วมกับยา Tramadol, Bupropion, ด้วยอาจก่อให้เกิดอาการชักกับผู้ป่วยได้ง่าย กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาดอกซาแพรมร่วมกับยา Selegilline, Furazolidone, Methylene blue ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเว้นระยะห่างของการใช้ยาอย่างน้อย 14 วัน

ควรเก็บรักษาดอกซาแพรมอย่างไร?

ควรเก็บยาดอกซาแพรมภายใต้อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ดอกซาแพรมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นของยาดอกซาแพรม เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dopram (โดแพรม)Baxter

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นๆของยานี้ เช่น Stimulex, Respiram, Caropram

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Doxapram [2017,Jan7]
  2. http://www.mims.com/india/drug/info/doxapram?type=full&mtype=generic#Indications [2017,Jan7]
  3. https://www.drugs.com/pro/doxapram.html [2017,Jan7]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/14879s044lbl.pdf [2017,Jan7]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/doxapram-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan7]