ซูเปอร์บัคจอมดื้อยา (ตอนที่ 1)

ซูเปอร์บัคจอมดื้อยา-1

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) เปิดเผยถึงเหตุการณ์หญิงอเมริกันวัย 70 ปี เสียชีวิตลงที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วง ก.ย. 2559 จากการติดเชื้อแบคทีเรียระดับ “ซูเปอร์บัค” คือ มีการดื้อยาปฏิชีวนะทั้งหมด 26 ชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า หญิงรายดังกล่าวใช้เวลาอยู่ในประเทศอินเดียค่อนข้างนาน ซึ่งประเทศอินเดียขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลาย โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากเธอประสบอุบัติเหตุจนกระดูกขาอ่อนด้านขวาหัก และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในอินเดีย แต่มีการติดเชื้อ และลามไปยังกระดูกสะโพก ซึ่งใช้เวลารักษาตัวอยู่ในอินเดียนาน 2 ปี

จากนั้นจึงเดินทางมารักษาตัวที่สหรัฐฯ ในเมือง Reno และถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อเรียกว่า ซีอาร์อี (Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae) ซึ่งปกติพบในระบบทางเดินอาหารและไม่ก่อโรค แต่เมื่อเชื้อเกิดการเปลี่ยนที่ไปอยู่ในอวัยวะอื่น แบคทีเรียอาจก่อโรคและเกิดการดื้อยาหลายชนิด

จนสุดท้ายเธอก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด จากเชื้อแบคทีเรีย “เคลบเซลลา นิวโมเนีย” (Klebsiella pneumonia) ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์หนึ่งของซีอาร์อี และไม่มียาขนานไหนในตอนนี้ที่ปราบการติดเชื้อได้

ด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า จากข้อมูลตามข่าวทราบว่าหญิงรายดังกล่าวมีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาถึง 26 ตัว เท่ากับว่าดื้อต่อยาเกือบทุกตัวที่มีในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเชื้อดังกล่าวจะดื้อยาไปทั้งหมด เพราะบางคนอาจดื้อยาแค่ตัวเดียว แต่เมื่อเชื้อไปอยู่อีกคนอาจดื้อยามากกว่า

สาเหตุเพราะการรับเชื้อดื้อยามีหลายแบบ ทั้งการรับประทานยาปฏิชีวนะบ่อยครั้ง เป็นจำนวนมาก และใช้ยาที่มีฤทธิ์รุนแรง รวมถึงการรับประทานยาที่ไม่ต่อเนื่องจนไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ ทำให้เชื้อดื้อยา หรือมาจากการรับประทานอาหารที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่ รวมไปถึงตัวเชื้อแบคทีเรียที่รับเข้ามาในร่างกายนั้นมีการดื้อยาอยู่แล้ว อย่างโรงพยาบาลก็จะเจอปัญหาเชื้อดื้อยาค่อนข้างมาก

ภญ.นิยดา ได้กล่าวถึง กรณีประเทศไทยที่น่ากลัวคือ การส่งถ่ายของยีน MCR-1 และ MCR-2 จากแบคทีเรียดื้อยาไปยังแบคทีเรียตัวอื่นๆ ได้ ทั้งเชื้อที่ดีและไม่ดี ซึ่งส่งผ่านยีนดังกล่าวไปแล้วจะทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ดีในร่างกายทำงานไม่ได้ และเชื้อที่ไม่ดีต่อร่างกายเกิดการปั่นป่วนและติดโรคขึ้น

ซูเปอร์บัค (Superbugs) เป็นคำที่ใช้เรียกแบคทีเรียชนิดใดก็ได้ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) กล่าวคือ ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าหรือหยุดการแพร่ตัวของเชื้อแบคทีเรียนั้นได้ (ภาษาแพทย์จะเรียกว่า “เชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน” หรือ “Multidrug-resistant bacteria”)

ตามประกาศของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อซูเปอร์บัคมากกว่า 2 ล้านคน และในจำนวนนี้มีอย่างต่ำ 23,000 ราย ที่เสียชีวิต

แหล่งข้อมูล:

  1. เชื้อแบคทีเรีย "ซูเปอร์บัค" ดื้อยาทุกตัว คร่าชีวิตหญิงมะกันวัย 70 ปี กพย.ห่วงส่งต่อยีนดื้อยา. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000005433 [2017, August 21].
  2. Superbugs: What are they and how are they treated?. http://www.abc.net.au/news/health/2017-02-28/superbugs-what-are-they-and-how-are-they-treated/8310556 [2017, August 21].
  3. 5 Superbugs Everyone Should Know. http://www.aftermath.com/content/superbug-infection-bacteria [2017, August 21].