ซาร์ส (SARS)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซาร์ส หรือ SARS ย่อมาจาก Severe acute respiratory distress syndrome หรือบางคนเรียกว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง คือโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไว รัสชื่อ SARS coronavirus โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการทางระบบหายใจ ซึ่งอาจรุนแรงจนมีโอ กาสเสียชีวิต(ตาย)ได้สูง เป็นโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศจีนในปี พ.ศ. 2545 ติดต่อกันได้ง่าย จึงทำให้เกิดการระบาดไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลกร่วม กับองค์การต่างๆ จึงได้พยายามควบคุมโรค และสามารถหยุดการระบาดได้ในปีต่อมาคือ พ.ศ.2546 ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่พบการระบาดขึ้นมาอีก

ผู้ป่วยโรคซาร์สคนแรก อยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง (Gaungdong) ของประเทศจีน ผู้ป่วยมีอา ชีพเป็นชาวนา โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2545 ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเขตใกล้บ้านและต่อมาก็เสียชีวิต โดยที่ทางโรงพยาบาลไม่ได้ระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจน หลังจากนั้นก็มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคปอดบวมติดเชื้อเกิดขึ้นตามมาอีกหลายคน และบางคนก็เสียชีวิตไป แต่ทางรัฐบาลจีนในขณะนั้นยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ จึงไม่ได้รายงานไปยังองค์การอนามัยโรค ทำให้การควบคุมโรคไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และในที่สุดก็เกิดการระ บาดไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งหลังจากนั้น ทางรัฐบาลจีนจึงได้ออกมากล่าวขอโทษต่อความล่าช้าในการวินิจฉัยและควบคุมโรคซาร์ส

เหตุการณ์ที่ทำให้องค์การอนามัยโลกได้รับทราบถึงการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นใหม่นี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2546 เมื่อนักธุรกิจชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เดินทางมาจากประเทศจีน และเริ่มมีอาการป่วยคล้ายเป็นโรคปอดบวมติดเชื้อขณะที่อยู่บนเครื่องบิน เมื่อเครื่อง บินลงจอดที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ก็ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในฮานอย (โรง พยาบาล The French Hospital of Hanoi) และต่อมาก็ได้เสียชีวิต หลังจากนั้นบุคลากรทาง การแพทย์ที่ได้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ ต่างก็เกิดอาการคล้ายกับผู้ป่วยขึ้นมา แพทย์ชาวอิตาเลียนชื่อ Carlo Urbani ซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนั้น ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคปอดบวมชนิดนี้ จึงรายงานไปยังองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลเวียดนาม ต่อมาแพทย์ผู้นี้เองก็ได้เสียชี วิตจากการติดโรคนี้

ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคไปอย่างกว้างขวาง เกิดขึ้นเนื่องจากมีแพทย์รายหนึ่งที่ติดโรคนี้มาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เดินทางเข้ามาพักที่โรงแรมในฮ่องกง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2546 และได้แพร่เชื้อไปยังผู้ที่พักในโรงแรมแห่งนั้น ผู้ที่ได้รับเชื้อเหล่านั้นต่างก็ได้เดินทางต่อไปยังประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียด นาม และในที่สุดก็ได้แพร่กระจายต่อไปเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก จนกระทั่งเมื่อองค์การอนามัยโลกได้รับทราบการเกิดโรคและการระบาดของโรคใหม่ชนิดนี้แล้ว จึงได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ และใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคอย่างเข้มงวด จนกระทั่งสามารถหยุดการแพร่กระ จายของโรคได้ และองค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศสิ้นสุดการระบาดของโรคซาร์สในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2546

โดยสรุปแล้ว ในช่วงระหว่างเดือน พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2545 จนถึง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546 ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคซาร์สประมาณ 8,000 กว่าคน โดยพบในประเทศจีนมากที่สุด คือประมาณ 5,000 กว่าคน รองลงมาคือ ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา และสิงคโปร์ (โดยที่มีผู้ป่วยประมาณ 20% เป็นบุคลากรทางการแพทย์) และมีผู้เสียชีวิตจากการเป็นโรคนี้ประมาณ 800 คน

สำหรับในประเทศไทย ในช่วงที่มีการระบาดครั้งนั้น มีการสอบสวนโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประ วัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 313 ราย พบผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคซาร์ส (Probable case) 9 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยได้รับการยืนยันแน่นอนว่าเป็นโรคซาร์ส 1 ราย และมีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย (Suspect case) 31 ราย แต่ในจำนวนนี้ ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสู่พื้น ที่ในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยไม่ถูกจัดเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

สถานการณ์โรคซาร์สปัจจุบัน หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศสิ้นสุดการระบาดของโรคซาร์สในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 แล้วนั้น ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2546 พบการติดเชื้อโรคซาร์สอีกครั้งในห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยาที่ไต้หวันและสิงคโปร์ แต่มีการควบคุมโรคอย่างทันท่วงที และในช่วงเดือนมีนาคม 2547 มีผู้ติดเชื้อโรคซาร์สที่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยในกรุงปักกิ่ง และเกิดการแพร่ระบาดเข้าไปในชุมชน มีผู้ป่วยอีก 7 ราย เสียชีวิต 1 ราย และต้องแยกผู้มีประวัติสัมผัสโรคเพื่อสังเกตอาการอีกหลายร้อยคน ต่อมาจีนได้ออกมาตรการห้ามจำ หน่ายและบริโภคเนื้อชะมด (Civet cats) และทำลายชะมดของร้านอาหารสัตว์ป่าไปกว่า 10,000 ตัว จนถึงขณะนี้ยังไม่พบมีการกลับมาแพร่ระบาดของโรคอีก

โรคซาร์สมีสาเหตุจากอะไร?

ซาร์ส

เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคซาร์ส ได้ถูกค้นพบในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546 จากการนำเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำให้ทราบว่าสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส และการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสทำให้ทราบว่าเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มที่ชื่อว่า Coronaviridae ซึ่งไวรัสที่อยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดเป็นโรคหวัด หรืออาการทางระบบหายใจส่วนล่าง (ปอด และหลอดลม) ได้ แต่มักไม่รุนแรง สำหรับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคซาร์สนี้ได้ถูกตั้งชื่อว่า SARS coronavirus (SARS-CoV)

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 ก็ได้มีการศึกษาหาแหล่งที่มาของเชื้อ SARS coronavi rus โดยการตรวจที่ตลาดค้าเนื้อสัตว์ป่าในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน พบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในอุ้งเท้าของชะมด (Civet cats) จึงสันนิษฐานว่าเชื้อน่าจะมาจากสัตว์ซึ่งมีอยู่เป็นปกติมานานแล้ว แต่เชื้อได้พัฒนาเข้าสู่คนเป็นครั้งแรกและทำให้เกิดโรคขึ้นมา เมื่อได้ศึกษาต่อไปก็พบเชื้อชนิดนี้อีกใน แรคคูน (Raccoon) แบดเจอร์ (Ferret badger) และค้างคาว โดยที่เชื้อไม่ได้ทำให้สัตว์เหล่านี้มีอาการ

โรคซาร์สติดต่อ และก่อโรคอย่างไร?

โรคซาร์สติดต่อได้โดยการอยู่อาศัยและสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย (Close person-to-person contact) โดยที่การหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปาก ซึ่งเรียกโดยรวมว่าเป็น การแพร่เชื้อผ่านละอองเล็กๆ (Droplets transmission) เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อ นอกจากนี้สันนิษฐานว่าการหายใจเอาเชื้อที่มีอยู่ในอากาศ (Air borne transmission) ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้

การอยู่อาศัยและสัมผัสใกล้ชิดที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ ได้แก่ การเป็นผู้ที่ต้องดูแลผู้ ป่วยโรคซาร์ส การอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน การมีเพศสัมพันธ์กัน การกอด การจูบ การสัมผัสเนื้อตัว การกินอาหารร่วมกัน การดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน การได้พูดสนทนาร่วมกันในระยะที่ใกล้กว่า 3 ฟุต ส่วนการเดินผ่าน การนั่งอยู่ในสถานที่เดียวกันโดยสถานที่นั้นไม่ได้เป็นระบบปิด ไม่ ได้ทำให้ติดเชื้อ

ผู้ที่เพิ่งติดเชื้อมาและยังไม่แสดงอาการ ระยะนี้ยังไม่มีรายงานว่าสามารถแพร่เชื้อให้ผู้ อื่นได้ ต่อเมื่อผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการแล้วเท่านั้นที่โรคจะติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้

เชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว อวัยวะหลักที่เชื้อจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ แบ่งตัวเพิ่มจำ นวนและทำลายเซลล์ที่อาศัยอยู่นั้น คือปอด ส่วนอวัยวะอื่นๆ คือ อวัยวะของทางเดินอาหาร และไต นอกจากนี้การที่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวและผลิตสาร เคมีขึ้นมาเพื่อพยายามทำลายเชื้อไวรัส ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปกติของร่างกายถูกทำ ลายไปด้วย

โรคซาร์สมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของเชื้อโรคซาร์ส คือตั้งแต่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งแสดงอาการ คือ ประมาณ 2-7 วัน ในบางรายอาจนานถึง 10 วัน อาการที่จะปรากฏในผู้ป่วยทุกคนคือ ไข้สูงมาก กว่า 38 องศาเซลเซียส อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วยได้แก่ หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร บางคนอาจมีถ่ายอุจจาระเหลว อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 3-7 วัน แล้วจะตามมาด้วยอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก และหากตรวจดูระดับออกซิเจนในเลือดก็จะพบว่ามีค่าลดลง (Hypoxemia) ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง คือเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด

การเอกซเรย์ปอดในช่วงแรกมักไม่พบความผิดปกติ แต่ภายใน 10-14 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการ การเอกซเรย์ปอดก็จะพบเงาผิดปกติต่างๆ โดยความผิดปกติมากน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงของอาการ

การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) จะพบเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ บางรายอาจมีเกล็ดเลือดต่ำ การตรวจเลือดอื่นๆอาจพบมีค่าเอนไซม์ของตับขึ้นสูงผิดปกติ ค่าการทำงานของไตขึ้นสูงผิด ปกติ มีค่าเกลือแร่ผิดปกติ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคซาร์ส์อย่างไร?

สิ่งที่สำคัญคือ การวินิจฉัยโรคซาร์สให้ได้อย่างรวดเร็ว และแยกผู้ป่วยออกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นต่อไป สำหรับการวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าผู้ใดมีเกณฑ์เข้าข่ายว่าจะป่วยด้วยโรคซาร์นั้น คือ

1. มีอาการไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส(Celsius) ร่วมกับมีอาการอื่นๆ หรือไม่ก็ได้ เช่น หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว

2. ภายในระยะเวลา 10 วันก่อนที่จะมีอาการปรากฏจะต้องมีประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคซาร์สเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการไปรอเปลี่ยนเครื่องบินที่สนามบินของพื้นที่เหล่านั้นด้วย ได้แก่ ประเทศจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ ประเทศไต้หวัน เมืองโตรอนโตของประเทศแคนาดา และเมืองฮานอยของประเทศเวียดนาม หรือหากไม่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว ก็ต้องมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจ ฉัยว่าป่วยเป็นโรคซาร์ส ได้แก่ เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซาร์ส การสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆจากผู้ป่วย การจูบ กอดหรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย การกินอาหารร่วม กัน การดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน การใช้สิ่งของส่วนตัวเช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน และการได้พูดสนทนาร่วมกับผู้ป่วยในระยะที่ใกล้กว่า 3 ฟุต

ทั้งนี้ บุคคลที่มีเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อครบนี้ เข้าข่าย “สงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคซาร์ส” (Sus pect case) ส่วนผู้ที่มีเงื่อนไขครบทั้ง 2 ข้อร่วมกับได้ทำการเอกซเรย์ปอดและพบเงาผิดปกติ ผู้ป่วยดังกล่าวจะเข้าข่าย “น่าจะป่วยเป็นโรคซาร์ส” (Probable case) ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้จะต้องแยกตัวออกจนกว่าจะได้รับการยืนยันการวินิจฉัย โดยจะใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการในการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโรคซาร์สหรือไม่ ซึ่งมีหลายวิธี คือ

  • การตรวจเลือดหาแอนติบอดี (Antibody,สารภูมิต้านทาน)ต่อเชื้อไวรัสโรคซาร์ส 2 ครั้งที่ห่างกันมากกว่า 21 วันขึ้นไป
  • การตรวจเลือดหรือตรวจสารคัดหลั่งหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วยวิธีที่เรียกว่า PCR (Poly merase chain reaction)
  • การเพาะเชื้อไวรัสจากเลือดหรือจากสารคัดหลั่ง

ทั้งนี้หากผลการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง 3 อย่างบ่งว่ามีการติดเชื้อไวรัสโรคซาร์ส ผู้ป่วยก็จะถูกระบุว่าเป็นโรคซาร์ส แต่หากการตรวจทั้งหมดให้ผลว่าไม่พบการติดเชื้อไวรัสโรคซาร์ส ผู้นั้นก็ไม่ได้ป่วยเป็นโรคซาร์ส

โรคซาร์สมีผลข้างเคียงและความรุนแรงอย่างไร?

จากสถิติผู้ป่วยและผู้ที่เสียชีวิต(ตาย)จากโรคซาร์สทั่วโลก เฉลี่ยแล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 9.6% หรือประมาณ 1 ใน 10 คน แต่หากแยกตามอายุจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 24 ปีมีน้อยกว่า 1% แต่ถ้าผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสเสียชีวิตถึง 50% นอกจากนี้การมีโรคประจำตัวบางอย่างก็ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือเป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคซาร์สที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากระบบหายใจเกิดล้มเหลว/ระบบหายใจล้มเหลวจากเชื้อไวรัสที่ไปทำลายปอดนั่นเอง

สำหรับผู้ป่วยที่รอดชีวิต ในบางรายพบว่า หากทดสอบการทำงานของปอด อาจยังมีผิด ปกติบ้าง หรือเอกซเรย์ปอดยังพบความผิดปกติเล็กน้อย อยู่ได้นานถึงประมาณ 12 เดือน

แพทย์รักษาโรคซาร์สอย่างไร?

หลักของการรักษาโรคซาร์ส คือต้องแยกตัวผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซาร์ส หรือมีเกณฑ์เข้าข่าย “สงสัย” หรือ “น่าจะ” ป่วยเป็นโรคซาร์และยังอยู่ในขั้นตอนของการพิสูจน์ยืนยัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักหรือมีโรคประจำตัว หรือเป็นผู้สูงอายุ ก็จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและแยกผู้ป่วยอย่างรัดกุม

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ร่างกายแข็งแรง อาจทำการแยกตัวโดยอยู่ที่บ้านได้ แต่ภายในบ้านต้องไม่มีเด็กอ่อน คนตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งมีห้องนอนและห้อง น้ำแยกส่วนตัว และต้องทำตามคำแนะนำในการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นอย่างเคร่งครัด เช่น การใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก ของใช้ส่วนตัวห้ามใช้ร่วมกัน รวมถึงแก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ส้อม และแยกทำความสะอาด แยกรับประทานอาหาร ขยะที่เกิดจากผู้ป่วยควรแยกถุงและแยกทิ้งแบบเป็นขยะติดเชื้อ ห้ามออกจากบ้าน โดยต้องหยุดเรียน หยุดทำงาน งดทำธุระต่างๆ รวมทั้งต้องมีการติดตามอาการและการปฏิบัติตัวจากเจ้าหน้าที่ทุกวัน เช่น การโทรศัพท์สอบถาม

ผู้ป่วยโรคซาร์สสามารถกลับไปเรียน หรือทำงาน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องแยกห้องเมื่ออาการต่างๆ ทั้งไข้ ไอ หายใจเหนื่อย หรืออื่นๆ หายสนิทไปแล้วจนครบ 10 วัน

ยังไม่มีคำแนะนำที่แน่นอนในการเลือกใช้ชนิดยาสำหรับรักษาโรคซาร์ส และยังไม่พบยาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อไวรัสโรคซาร์ส ยาที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอด์ ยาฆ่าเชื้อไวรัสชื่อ Ribavirin ซึ่งบางรายงานพบว่าไม่มีผลในการฆ่าเชื้อไวรัสโรคซาร์สเลย แต่กลับมีผลข้างเคียงมากกว่า (เช่น ผื่นคัน เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาการชา สับ สน) ยาต้านกระบวนการอักเสบที่ชื่อว่า Interferon ยาที่เป็นแอนติบอดิต่อเชื้อไวรัส (Intrave nous immunoglobulin) ซึ่งพบว่ามีผลข้างเคียงที่อันตรายคือทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ปอดได้ (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) นอกจากนี้ยังมีตัวยาที่สกัดมาจากชะเอมเทศ ชื่อ Glycyrrhizin ถูกนำมาใช้รักษาในประเทศจีนด้วย โดยพบว่าช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด แต่ก็ยังไม่มีการศึกษายืนยันถึงผลการรักษา

สำหรับการรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด การให้สารน้ำและเกลือแร่ การใส่เครื่องช่วยหายใจในผู้ที่มีภาวการณ์หายใจล้มเหลว เป็นต้น

ป้องกันโรคซาร์สอย่างไร?

เนื่องจากโรคซาร์ส เป็นโรคที่มีการแพร่กระจายได้ง่าย อัตราการตายสูง ทำให้องค์กรอนามัยโลก และองค์กรอื่นๆ เช่น องค์การควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Cen ter of Disease Control and Prevention,CDC) รวมทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศ ต่างร่วมมือกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค

มาตรการสำคัญคือ การคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่งทำโดยการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิตรวจวัดผู้โดยสารทุกคน ก่อนเดินทางเข้าประเทศ หากใครมีอุณหภูมิขึ้นสูงผิดปกติ (อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 องศาเซียลเซียส) จะถูกนำไปวัดอุณหภูมิซ้ำด้วยปรอทวัดไข้ หากมีไข้จริง ก็จะถูกนำไปซักประวัติการเดินทาง หากมีเกณฑ์อยู่ในข่ายว่าอาจติดโรคซาร์ส ก็ต้องถูกแยกตัวออกไป รวมทั้งผู้โดยสารที่เดินทางร่วมกันมาจะต้องอยู่กับบ้านและสังเกตอาการภายใน 10 วันด้วย

สำหรับผู้ที่กลับจากแหล่งระบาดของโรค หรือประเทศกลุ่มเสี่ยง เมื่อกลับถึงบ้าน ควรทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า เครื่องใช้ต่างๆ และแยกตัวเอง ไม่สัมผัสใกล้ชิดใคร (การพูดคุยควรห่างกันประมาณ 5 เมตร) อย่างน้อย 7 วัน แต่ถ้ามีไข้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่ว โมง โดยแจ้งว่า เพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

อนึ่ง ในพื้นที่ที่มีการระบาดก็ได้มีการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายของโรคอย่างเข้ม งวด โดยมาตรการสำคัญคือ การแยกผู้ป่วยและผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรค ในบางพื้นที่ต้องมีการสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนานนับเดือน รวมถึงโรงพยาบาลอีกหลายแห่งด้วย

บรรณานุกรม

  1. https://www.cdc.gov/sars/index.html [2017,Oct14]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Severe_acute_respiratory_syndrome [2017,Oct14]
  3. http://beid.ddc.moph.go.th/media/factsheet_detail.php?id=11 [2017,Oct14]
  4. https://www.hfocus.org/content/2015/04/9652 [2017,Oct14]
  5. http://www.who.int/csr/sars/en/ [2017,Oct14]
Updated 2017,Oct14