ชีวิตเส็งเคร็ง จากมะเร็งท่อน้ำดี (ตอนที่ 3)

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำโครงการตรวจหาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับและ โรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง อันได้แก่ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ (อุบลราชธานี) และโรงพยาบาลมหาราช (นครราชสีมา) ซึ่งจะขยายเครือข่ายลงสู่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ในภาคอีสานทั้งหมด

การเน้นหนักที่โรงพยาบาลต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องอาหารการกินในภาคนี้ ส่วนการศึกษาวิจัยในโลกตะวันตก พบปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่เชื่อมโยงกับโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ โดยเฉพาะโรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นปฐมภูมิ (Primary sclerosing cholangitis: PSC) ซึ่งเป็นโรคท่อน้ำดีอักเสบชนิดหนึ่งที่ทำให้มีการหนาแข็งของท่อน้ำดี นอกจากนี้โรคนี้ยังมีความสัมพันธ์กับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis) อีกทอดหนึ่ง

การศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยา ชี้ให้เห็นว่าอัตราเสี่ยงตลอดชีวิตของผู้ป่วย PSC ที่จะเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับอยู่ที่ 10% – 15% ในขณะที่งานวิจัยที่ได้จากการชันสูตรศพ พบว่ามีอัตราสูงถึง 30% อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนของกลไกที่ทำให้ผู้ป่วย PSC เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับมากขึ้น

โรคติดเชื้อพยาธิ (Parasite) บางชนิด (โดยเฉพาะที่พบในอาหารอีสาน) ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน อาทิการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับที่ชื่อ Opisthorchis viverrini ซึ่งพบมากในประเทศไทย ลาว และมาเลเซีย หรือที่ชื่อ Clonorchis sinensis ซึ่งพบในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ล้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ

ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง (Chronic liver disease) อาทิ จากโรคไวรัสตับอักเสบ บี หรือ โรคไวรัสตับอักเสบ ซี โรคตับจากแอลกอฮอล์ และโรคตับแข็งจากสาเหตุอื่นๆ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ งานศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าการติดเชื้อเอชไอวีก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็น โรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับได้เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ว่าเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีเอง หรือปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี

ความผิดปกติแต่กำเนิดของตับ หรือถุงน้ำของท่อร่วมน้ำดี ต่างก็มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงตลอดชีวิตของการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับประมาณ 15% ส่วนโรคพันธุกรรมบางอย่าง อาทิ กลุ่มอาการลินช์ชนิดที่ 2 (Lynch syndrome II) และโรคติ่งเนื้อในท่อน้ำดี ก็มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ

ส่วนการมีนิ่วในถุงน้ำดีนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ว่าเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับหรือไม่ อย่างไรก็ตาม โรคนิ่วในตับซึ่งพบน้อยในโลกตะวันตกแต่พบได้บ่อยกว่าในบางส่วนของเอเชียกลับมี ความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับโดยตรง โดยเฉพาะการรับประทานอาหารหมักดอง อาทิ ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อม และปลาส้ม

อาหารเหล่านี้จะมีสารซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับได้ นอกจากนี้ การสัมผัสสารทึบรังสีบางชนิดในรูปแบบหนึ่งก็มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีของตับ ณ เวลา 30 – 40 ปีหลังการสัมผัส จึงทำให้สารดังกล่าวถูกห้ามใช้ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ทศวรรษปี 1950 (ประมาณ ปี พ.ศ. 2493)

แหล่งข้อมูล:

  1. เผยปลาร้าดิบทำคนอีสานป่วยมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี สูงสุดในโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000022649 [2012, February 24].
  2. มะเร็งท่อน้ำดี http://th.wikipedia.org/wiki/มะเร็งท่อน้ำดี [2012, February 24].