ชีวิตพิการเพราะรูมาตอยด์ (ตอนที่ 5)

ชีวิตพิการเพราะรูมาตอยด์

การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน (ต่อ)

  • การลดความเครียด (Stress reduction) – ผู้ที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์มักมีความกลัว โมโห และคับข้องใจ อันเนื่องมากจากความปวดหรือข้อจำกัดของร่างกาย ซึ่งสามารถทำให้มีความเครียดและรู้สึกปวดมากขึ้น ดังนั้นจึงควรหาวิธีผ่อนคลายความเครียด (Relax) การเบี่ยงเบนความสนใจ (Distraction) จากอาการที่เป็นอยู่ด้วยกิจกรรมอย่างอื่น
  • การกินอาหารที่มีประโยชน์ (Healthful diet) ให้พอเพียง – สำหรับผู้ที่ใช้ยา Methotrexate ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะมีผลต่อตับแล้ว ยานี้จะมีผลข้างเคียงในการทำลายตับด้วย

สำหรับการใช้ยา ชนิดของยาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ เช่น

  • ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ เช่น ยา Ibuprofen ยา Naproxen sodium ทั้งนี้ ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ มีเสียงในหู ท้องปั่นป่วน ผิวหนังเป็นผื่น ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ (Fluid retention) หัวใจมีปัญหา ตับและไตถูกทำลาย ดังนั้นจึงควรใช้ยากลุ่มนี้ในปริมาณที่น้อยเท่าที่จะทำได้และภายในระยะเวลาที่สั้น
  • ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น ยา Prednisone ที่ช่วยอาการอักเสบและปวด ช่วยชะลอการถูกทำลายของข้อ ทั้งนี้ ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ กระดูกบาง น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นโรคเบาหวาน แพทย์มักสั่งยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการเฉียบพลัน และจะค่อยๆ ลดยานี้ลง
  • ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์ (Disease-modifying antirheumatic drugs = DMARDs) ช่วยลดพัฒนาการของโรคข้อรูมาตอยด์ ช่วยรักษาข้อและเนื้อเยื่ออื่นไว้จากการถูกทำลายอย่างถาวร
  • โดยยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยา Methotrexate ยา Leflunomide ยา Hydroxychloroquine และยา Sulfasalazine ซึ่งมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ ตับถูกทำลาย มีการกดไขกระดูก (Bone marrow suppression) และติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรง

  • ยากลุ่มสารชีวภาพ (Biologic agents) ซึ่งเป็นยากลุ่ม DMARDs ตัวใหม่ เช่น ยา Abatacept ยา Adalimumab ยา Anakinra ยา Certolizumab ยา Etanercept ยา Golimumab ยา Infliximab ยา Rituximab ยา Tocilizumab และยา Tofacitinib โดยยาเหล่านี้จะมุ่งเน้นไปที่ระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบ อย่างไรก็ดี ยากลุ่มนี้สามารถทำให้มีการติดเชื้อได้ง่ายด้วย

ทั้งนี้ ในอดีตแพทย์มักให้ยาอ่อนๆ เช่น ยา Aspirin ก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มความแรงของยาตามอาการที่แย่ลง แต่ปัจจุบันจากการศึกษากลับพบว่า ควรใช้ยาหลายตัวร่วมกัน และโรคจะทุเลาลงได้เมื่อรักษาแต่เนิ่นๆ ด้วยยาแรง อย่างยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์ หรือที่เรียกกันว่า ยาต้านโรครูมาติก (Disease-modifying antirheumatic drugs = DMARDs) ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้พัฒนาการของโรคช้าลง นอกจากนี้แพทย์อาจให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยให้ข้อยืดหยุ่นได้

แหล่งข้อมูล

1. Rheumatoid arthritis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rheumatoid-arthritis/home/ovc-20197388 [2016, August 14].

2. Rheumatoid arthritis. http://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-dry-eye [2016, August 14].

3. Rheumatoid arthritis. http://www.niams.nih.gov/health_info/rheumatic_disease/ [2016, August 14].