ลมชัก:ชักจากไข้ในวัยเด็ก

ชักจากไข้ในวัยเด็ก

ชักจากไข้ในวัยเด็กนั้นเป็นภาวะที่พบบ่อย และทำให้พ่อแม่ของเด็กมีความกังวลใจอย่างมาก กลัวว่าลูกจะเป็นโรคลมชัก จะโง่หรือไม่ จะเรียนหนังสือได้หรือไม่ เรามาทำความรู้จักภาวะนี้ให้ดีครับ

ความจริงที่ต้องรู้

  • ภาวะชักจากไข้ไม่ใช่โรคลมชัก เพราะถ้าไม่มีไข้ขึ้นสูงก็ไม่ชักซ้ำ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการทานยากันชักระยะยาวหลายๆ ปี
  • ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส โดยที่ไม่มีโรคหรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการชัก
  • พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ขวบ
  • อาการชักมักพบบ่อยในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของไข้ขึ้นสูง และมักไม่มีการชักซ้ำ

อาการชักมี 2 แบบ

  • รูปแบบที่ 1 การชักเกร็งกระตุกทั่วทั้งตัว ชักนานไม่เกิน 5 นาที เป็นเพียงครั้งเดียว ไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ
  • รูปแบบที่ 2 ชักแบบเฉพาะส่วนของร่างกาย นานมากกว่า 15 นาที อาจเป็นมากกว่า 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง อาจพบความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • การปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง โดยการงัดปาก ใช้ช้อน นิ้วมือ วัสดุแข็งงัดปากเด็ก เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดโทษกับเด็กด้วย
  • ป้อนยาขณะเด็กชัก เพราะจะทำให้เด็กมีอาการสำลักยา และเกิดอันตรายได้
  • ใช้น้ำเน็นเช็ดตัว หรือน้ำแข็งประคบ เพราะจะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว อุณหภูมิยิ่งไม่ลดลง
  • ใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพราะยิ่งทำให้ไข้ไม่ลดลง ควรใส่เสื้อผ้าบางๆ จะได้ระบายความร้อนได้อย่างดี

การปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

  • คลายเสื้อผ้าให้หลวมๆ เพื่อการระบายความร้อนได้ง่าย
  • ขณะชักให้จับเด็กนอนตะแคง หัวต่ำ เพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย หรืออาหารที่ค้างในปาก
  • ขณะชักถ้าเด็กอ้าปาก ก็ให้ดูว่ามีอาหารค้างอยู่ในปากหรือไม่ ถ้ามีก็พยายามเอานิ้วมือล้วงออก แต่ถ้าเด็กกัดปากอยู่ ห้ามงัดปาก
  • เช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำประปาพอหมาดๆ ถูเบาๆ บ่อยๆ ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ รักแร้ ซอกคอ
  • ถ้ามีอาการชักนานมากกว่า 5 นาที หรือเด็กซึมมาก ให้นำส่งโรงพยาบาล

ชักจากไข้ในวัยเด็ก ไม่ใช่โรคลมชัก ไม่ต้องทานยากันชัก