จี้หัวใจสยบไหลตาย (ตอนที่ 1)

จี้หัวใจสยบไหลตาย

ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีก่อน มีโรคลึกลับที่สร้างความตื่นตระหนกแก่คนในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีคนหลายคนที่อยู่ๆ ก็เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยนอนหลับแล้วเสียชีวิตไปเฉยๆ โดยไม่มีอาการบ่งชี้ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “โรคใหลตาย”

นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ให้ข้อมูลว่า โรคใหลตายเป็นกลุ่มโรคเดียวกับ Brugada Syndrome และ Early Repolarization Syndrome ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ ทำให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วมากจนทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ส่วนกลไกที่เป็นสาเหตุของ Brugada หรือ Early Repolarization เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ยังเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์ต้องทำการศึกษากันต่อไป

นพ.กุลวี กล่าวว่า อาการของโรคนี้ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตฉับพลันในเวลากลางคืน ทั้งๆ ที่เป็นคนแข็งแรงและไม่เคยป่วยมาก่อน ในประเทศไทยมักพบเจอบ่อยในภาคอีสานและบางส่วนของภาคกลาง ช่วงอายุผู้ป่วยอยู่ระหว่าง 30-50 ปี ที่สำคัญคือโรคนี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป

จากปริศนาดังกล่าว นพ. กุลวี ได้ทำการศึกษาบุกเบิกสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุและแนวทางการรักษาโรคใหลตาย โดยในปี 2539 นพ. กุลวี และคณะวิจัยได้ค้นพบว่าอาการของโรคนี้มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกตินี้จะมีรูปแบบเฉพาะที่ภายหลังเรียกว่าเป็น Brugada Syndrome

ล่าสุดเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ก็มีการค้นพบใหม่อีกว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีพังผืดในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวา พยาธิสภาพของโรคนี้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าพันธุกรรมมีส่วนกระตุ้นให้เป็นโรคใหลตายอย่างไร

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ Brugada Syndrome และ Early Repolarization Syndrome คือ คนที่เคยมีอาการ Cardiac Arrest หรือภาวะหัวใจเต้นระริกไม่มีการบีบตัว ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือด ไม่มีการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย

ซึ่งอาการนี้ หากไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจชนิดอื่นมาก่อน ก็พบว่าเกิดจากกระแสไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ รวมทั้งอาการ Agonal respiration หรือการหายใจเป็นเฮือกๆ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นหลังหัวใจหยุดเต้น คนกลุ่มนี้แม้มีชีวิตรอดจากการช่วยปั๊มหัวใจมาได้ครั้งหนึ่ง ก็ยังมีความเสี่ยงจะเกิดซ้ำอีก

สำหรับแนวทางการรักษา แนวทางแรกคือการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ (Implantable Defibrillator) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยเมื่อเกิดอาการภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระริกโดยไม่มีการหดตัว (Ventricular Fibrillation) เครื่องกระตุกหัวใจก็จะช็อคหัวใจให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

แหล่งข้อมูล

1. จี้หัวใจ พิชิตโรคใหลตาย.http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9590000031508 [2016, April 8].