จี้มะเร็ง (ตอนที่ 1)

จี้มะเร็ง-1

นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ ภาควิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ได้กล่าวว่า มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งตับมีได้หลายวิธี ขึ้นกับระยะของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วยตามแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทย

กรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนเนื้องอกมะเร็งตับที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด หากไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษา (Interventional radiology) ซึ่งได้แก่ การรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอก (Tumor ablation) และการให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (Transarterial chemoembolization; TACE)

นพ.สมราช อธิบายถึงการจี้ก้อนเนื้องอก (Tumor ablation) ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมกับการรักษาก้อนเนื้องอกขนาดน้อยกว่า 3 เซนติเมตร เป็นก้อนที่อยู่ในตำแหน่งที่ทำการผ่าตัดได้ยาก โดยการจี้เนื้องอกสามารถทำได้หลายวิธี

วิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การใช้เข็มให้ความร้อน ซึ่งกลไกการสร้างความร้อนของแต่ละเครื่องมือนั้นแตกต่างกันไป ได้แก่ เข็มที่ผลิตความร้อนจากคลื่นวิทยุ (Radiofrequency ablation; RFA) หรือเข็มที่ผลิตความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟ (Microwave ablation) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยความร้อนนับเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพสูง และอยู่ในแนวทางการรักษาก้อนเนื้องอกมะเร็งตับขนาดเล็กที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

อย่างไรก็ตาม การจี้ก้อนเนื้องอกโดยการใช้เข็มให้ความร้อนมีข้อจำกัดในก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดติดกับหลอดเลือดหรือท่อน้ำดี เพราะความร้อนที่ใช้สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่หลอดเลือดหรือท่อน้ำดีได้ รวมทั้งอาจเกิดการพัดพาความร้อนออกจากก้อนเนื้องอกจากเลือดที่ไหลผ่านในหลอดเลือด (Heat-sink effect) ทำให้ก้อนเนื้องอกบริเวณที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือดนั้นไม่ได้รับความร้อนที่สูงพอ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการเหลือรอดของก้อนเนื้องอก (Residual tumor) หรือกลับเป็นซ้ำ (Recurrent tumor) ได้

ดังนั้น จึงมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อลดข้อจำกัดจากการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยความร้อน คือ การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูง (Irreversible electroporation; IRE) หรือ มีดนาโน (Nanoknife®) ซึ่งเป็นการจี้ก้อนเนื้องอกโดยใช้เข็มอย่างน้อย 2 เล่มสอดเข้าไปในตำแหน่งของเนื้องอก

ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ ไหลผ่านเซลล์เนื้องอก ส่งผลให้เกิดรูขนาดเล็ก (Nanopores) จำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ซึ่งจะทำให้เกิดการตายแบบธรรมชาติ (Apoptosis) โดยไม่เกิดความร้อนออกมาทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง จึงทำให้สามารถใช้ในการรักษาก้อนเนื้องอกที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือดหรือท่อน้ำดีได้อย่างปลอดภัย

นพ.สมราช ชี้แจงว่า ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว การรักษาด้วยมีดนาโนนี้จึงถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งตับอ่อนซึ่งเป็นมะเร็งที่ทำการรักษาได้ยากด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะก้อนมะเร็งที่โอบล้อมหลอดเลือดในช่องท้อง

แหล่งข้อมูล:

  1. รักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโน. . http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000063597 [2017, August 14].