จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 83 : วัยรุ่นต่างวัฒนธรรม

จิตวิทยาวัยรุ่น

นักวิจัยทั่วไปเชื่อมั่นในความแตกต่างต่างวัฒนธรรม โดยมนุษย์ในสังคมต่างๆ มักมีความคิดที่แตกต่างกันนานัปการ อาทิ กาละเทศะที่เหมาะสมสำหรับการลงโทษทางวินัยเด็กวัยรุ่น หรือกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่นหนุ่มและสาว

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเรียนรู้ว่า ผู้คนจากวัฒนธรรมหลากหลาย แตกต่างกันในวิธีมองโลก (โลกทัศน์) แสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึก การคิด และการแก้ปัญหา ดังนั้น นอกเหนือจากการมุ่งเน้นไปที่พัฒนการของวัยรุ่นแล้ว วิธีการต่างวัฒนธรรม ยังแสดงให้เห็นว่า พัฒนาการของมนุษย์ยังได้รับอิทธิพลอย่างมากในบริบทของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

การเปรียบเทียบต่างวัฒนธรรม ได้แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมจำนวนไม่น้อยในโลกนี้ ไม่มีแนวความคิด (Concept) ของ “วัยรุ่น” (Adolescence) ว่า เป็นอีกช่วงหนึ่งของชีวิตที่แตกต่างอย่างเด่นชัด (Distinct) เพราะเป็นรอยต่อระหว่างจุดสิ้นสุดของวัยเด็ก และจุดเริ่มต้นของวัยผู้ใหญ่

ตัวอย่างเช่น ชาวเอสกิโมที่เมืองเซ็นต์ลอร์เร็นซ์ (St. Lawrence) เพียงแต่แยกแยะระหว่างเด็กชายกับบุรุษ หรือเด็กหญิงกับสตรี [กล่าวคือ ไม่มีคำว่า “หนุ่ม-สาว”] ตามประเพณีปฏิบัติของสังคมก่อนการอ่านออก-เขียนได้ (Pre-literate) ที่ดำเนินมาหลายชั่วอายุคน

อย่างไรก็ตาม ในวัฒนธรรมอื่น ได้แสดงช่วงอายุ (Life span) ที่ซับซ้อน (Intricate) กว่าของชาวอเมริกัน ตัวอย่างเช่น ชาว อราชา (Arasha) ในทวีปอัฟริกาตะวันออก ได้แบ่งออกเป็น 6 ช่วงอายุสำหรับผู้ชาย กล่าวคือ (1) วัยเยาว์ (2) วัยรุ่นนักรบ (3)วัยฉกรรจ์นักรบ (4) วัยเริ่มชรา (5) วัยสูงอายุ และ (6) วัยเกษียณ

อย่างไรก็ตาม ในการเปรียบเทียบต่างวัฒนธรรม เพื่อสำรวจกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า มีความผิดปรกติในเรื่องสมาธิสั้น และไม่สงบนิ่ง (Attention-deficit, hyperactivity disorder : ADHD) โดยกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นชนหมู่น้อย(Ethnic) และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อพยพมาจากเมืองทางใต้และจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศบราซิล เปรียบเทียบกับกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน

ตามปรกติกลุ่มวัยรุ่น ADHD อเมริกัน มักจะมีอาการซึมเศร้า (Depressed) ต่อต้าน (Defiant) และกังวล (Anxious) นักวิจัยต้องการศึกษาว่า กลุ่มชนหมู่น้อยที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน จะเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับความรู้สึกทางอารมณ์ที่ผิดปรกติ อันเกิดเนื่องมาจาก ADHD หรือไม่?

ผลการวิจัยเปิดเผยว่า รูปแบบของความผิดปรกติที่สัมพันธ์กับ ADHD ในกลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในย่านภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Theory of cognitive development - http://en.wikipedia.org/wiki/Theory_of_cognitive_development [2015, April 11].