จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 82 : วัยรุ่นฆ่าผู้อื่น (3)

จิตวิทยาวัยรุ่น

แม้วัยรุ่นผู้ยิง (Shooter) จะมีความแตกต่างกัน นักวิจัยได้ค้นหาปัจจัยเสี่ยง (Risk factor) ที่วัยรุ่นฆาตกรมีร่วมกัน อันได้แก่

  1. ผู้ยิงส่วนใหญ่ แสดงความโกรธและอาการซึมเศร้า (Depression) ที่ควบคุมไม่ได้ กล่าวโทษผู้อื่นว่า เป็นตัวปัญหา และข่มขู่ว่า จะใช้ความรุนแรง (Violence) ส่วนมากมีประวัติของความก้าวร้าว (Aggression) ทั้งทางร่างกาย วาจา หรือทั้งสองอย่าง และมีปัญหาถูกลงโทษ (Discipline) ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน
  2. ครึ่งหนึ่งของผู้ยิง ได้รับการดูแลจากพ่อแม่ (Parental supervision) น้อยมาก มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และมองเห็น (Perceive) ว่าตัวเองไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ส่วนมากมีประสบการณ์ไม่นานมานี้ในเรื่องการแตกหักในเรื่องความสัมพันธ์ [กับเพศตรงข้าม] เหตุการณ์ตึงเครียด หรือการสูญเสียสถานะ
  3. ส่วนใหญ่ของผู้ยิง ถูกแยกตัวออกมาอยู่อย่างสันโดษ (Isolation) เพราะถูกปฏิเสธจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน ส่วนมากไม่มีทักษะที่ดีทางสังคม และรู้สึกถูกหาเรื่อง (Picked) และถูกข่มเหง (Persecuted) รวมทั้งมีเพื่อนที่ต่อต้าสังคม (Anti-social) ด้วยกัน แรงจูงใจ (Motive) ที่อยู่เบื้องหลังการยิง มักอยู่ที่เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม จากการแก้แค้นเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่กระทำผิดต่อผู้ยิง และ/หรือ เพื่อให้ได้รับสถานะ หรือความสำคัญในหมู่เพื่อนฝุง
  4. ในทุกรณี ผู้ยิงเข้าถึงอาวุธปืน (Fire-arm) ได้ง่าย ซึ่งอยู่ภายในบ้าน หรือในทีมยิงปืนของโรงเรียน
  5. ผู้ยิงส่วนใหญ่ ให้สัญญาณของความตั้งใจก่อเหตุรุนแรง ซึ่งไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น คิปแลนด์ คินเคิ่ล (Kipland Kinkel) ได้อ่านต่อหน้าชั้นเรียน เกี่ยวกับบันทึกรายวันของการฆ่าเพื่อนนักเรียน แบรี่ โลอูไคทิศ (Barry Loukaitis) แต่งเป็นคำกลอนด้วยเนื้อหาว่า “ฉันมองดูศพของเขาบนพื้น / ฆ่าไอ้วายร้าย (Bastard) ที่สมควรตาย / มิให้เหมือนสิ่งใด ในโลกนี้” ส่วน ลุ้ค วู๊ดแฮม (Luke Woodham) เขียนบันทึกว่า “ฉันทำสิ่งนี้ เพื่อแสดงให้สังคม . . . เห็นว่า ไม่มีใครรักฉันอย่างจริงใจ

สมาคมแห่งชาติสำหรับนักจิตวิทยาในโรงเรียน (National Association of School Psychologists) ได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยง 17 รายการ (ความโกรธที่ควบคุมไม่ได้ การขู่ฆ่าตัวตาย การปลีกตัวออกจากสังคม ประวัติของความก้าวร้าว ฯลฯ) ที่เพิ่มโอกาสของการกระทำที่รุนแรง แล้วพบว่า ผู้ยิงส่วนใหญ่ดังกล่าวข้างต้นมีปัจจัยความเสี่ยงอย่างน้อย 13 ใน 17 รายการ

นักวิจัยยังแนะนำว่า เมื่อทราบว่าวัยรุ่นใด มีปัจจัยความเสี่ยงจำนวนมากใน 17 รายการ วัยรุ่นนั้น สมควรได้รับการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วน พร้อมจุดมุ่งเน้นในเรื่องการรักษา (Intervention) หรือช่วยเหลือวัยรุ่นนั้น เพื่อลดความเสี่ยงลง

อย่างไรก็ตาม มี “รูปลักษณ์เฉพาะ” (Profile) หนึ่งที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก นั่นคือความแตกต่างทางเพศ เนื่องจากในการยิงกันในโรงเรียนเกือบทุกกรณีนั้น ฆาตกรเป็นหนุ่มวัยรุ่น แต่ก็มีการบันทึกของสาววัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงด้วยการใช้ปืนยิงถึง 3 ราย รวมทั้ง ลอรี่ แดน วัสเซ่อร์แมน (Laurie Dann Wasserman) ซึ่งได้ฆ่านักเรียน 1 คน และทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บอีก 6 คน ณ โรงเรียนประถมศึกษา (Elementary School) ในเมืองวินเน็ตกา (Winnetka) รัฐอิลลินอยส์ ก่อนที่จะยิงตัวตายตามไป

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. School shooting - http://en.wikipedia.org/wiki/School_shooting [2015, April 7].