จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 80 : วัยรุ่นฆ่าผู้อื่น (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

การยิงกันในโรงเรียน (School shooting) เป็นอุบัติการณ์ของความรุนแรง (Violence) ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน บนรถโรงเรียน หรือใกล้โรงเรียน ในขณะที่มีการเรียนอยู่ อาจเกิดขึ้นได้ทุกแห่งหนในโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีที่โรงเรียนปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เมื่อนายอนัชชา บุญขวัญ อายุ 17 ปี ได้ใช้ปืนฆ่านักเรียน 2 คน และทำให้นักเรียนอีก 4 คนบาดเจ็บ หลังจากแพ้การชกต่อยกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่ง [ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ที่บาดเจ็บ]

ในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยเผชิญกับการตอบคำถามที่น่าสลดใจ (Tragic) จากการยิงกันในโรงเรียน ตัวอย่างเช่น ทำไมหนุ่มวัยรุ่น จึงพกปืนไปโรงเรียน? แล้วฆ่านักเรียนและครูตาย 32 ราย และบาดเจ็บอีก 79 ราย ทุกคนสงสัยว่า อะไรทำให้วัยรุ่นกลายเป็นฆาตกร? ในบางกรณี วัยรุ่นดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่า มีความประพฤติที่ผิดปรกติ (Conduct disorder)

ความประพฤติที่ผิดปรกติ หมายถึงรูปแบบ (Pattern) ที่ทำซ้ำซากและสม่ำเสมอ (Persistent) ของความประพฤติ ซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี โดยละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งพฤติกรรมที่ก้าวร้าว (Aggressive) อาทิ การคุกคามที่จะทำอันตรายผู้อื่น การใช้อำนาจในทางที่ผิด (Abuse) ในการเข่นฆ่าสัตว์ ทำลายทรัพย์สิน และหลอกหลวงหรือขโมยสิ่งของ

การวินิจฉัยความผิดปรกติดังกล่าว ดูเหมือนจะประยุกต์ใช้ได้กับ คิปแลนด์ คินเคิ่ล (Kipland Kinkel) วัยรุ่นอายุ 15 ปี ผู้ซึ่งได้รับข้อกล่าวหาว่า ได้ยิงปืนยาว (Rifle) กึ่งอัตโนมัติ กราดใส่ไปยังโรงอาหารในโรงเรียน โดยรัวกระสุน 50 รอบ จนเป็นเหตุให้นักเรียนเสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บอีก 22 ราย

ผู้ที่รู้จักเขา ให้การว่า คินเคิ่ล มีอารมณ์รุนแรง และมีประวัติในเรื่องปัญหาพฤติกรรม ซึ่งรวมทั้งการฆ่าแมวของเขาเอง โดยยัดประทัด (Firecracker) เข้าไปในปากของแมว ระเบิดใส่วัวจนตาย เอาหินขว้างปาใส่รถที่วิ่งอยู่บนถนนทางด่วน (Highway overpass) และผลิตระเบิดขึ้นเอง

ทำไมวัยรุ่นจึงยิงนักเรียนและครู? ในความพยายามจะตอบคำถามนี้ นักวิชาชีพสุขภาพจิต (Mental health professional) ได้ใช้วิธีการของกรณีศึกษา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ในเชิงลึกของความคิด ความรู้สึก ความเชื่อมั่น ประสบการณ์ พฤติกรรม หรือ ปัญหาของปัจเจกบุคคล (Individual)

อย่างไรก็ตาม การศึกษาอย่างถี่ถ้วนของหน่วยสืบราชการลับสหรัฐอเมริกา (U.S. Secret Service) พบว่า ไม่มี “รูปลักษณ์เฉพาะ” (Profile) ที่แน่นอนของผู้กระทำผิดกฎหมาย (Perpetrator) บางคนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในอุดมคติด้วยซ้ำ แต่บางคนก็เป็นลูกของพ่อแม่ที่หย่าร้างกัน บางคนอยู่ในบ้านพ่อแม่บุญธรรม หรือบางคนอยู่อย่างโดดเดียวแต่มีเพื่อนสนิท เป็นต้น แต่การวิจัยก็พบบาง “รูปลักษณ์” ที่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ฆาตกรจะไม่ลงมือฆ่าทันทีทันควัน (Snap) โดยมักจะมีการวางแผนมาก่อน แล้วแสวงหาอาวุธ และใช้เวลาตรึกตรองยาวนาน ก่อนจะนำไปสู่ความรุนแรง

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. School shooting - http://en.wikipedia.org/wiki/School_shooting [2015, March 31].