จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 76 : การปรับตัวของวัยรุ่นในโรงเรียน (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ในการศึกษาวิจัยหนึ่ง พบว่า การเปลี่ยนผ่าน (Transition) จากโรงเรียนประถมศึกษาไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษา นำมาซึ่งความสนใจภายใน (Intrinsic) ที่ลดลง ในการเรียนของบรรดานักเรียนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชั้นเรียน แต่ลงเอยด้วยโอกาสที่น้อยลง เมื่อเปรียบเทียบสมัยที่อยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา

ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นความสำคัญของการสอดคล้อง (Good fit) ระหว่างนักเรียนกับโรงเรียน โดยที่นักเรียนประสบการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ ในเรื่องทัศนคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ หากมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ชั้นเรียนโรงเรียนใหม่ที่ครูคณิตศาสตร์มิได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนักเรียน และมิได้สนับสนุนนักเรียนมากเท่าครูคณิตศาสตร์ในโรงเรียนเดิม

ในทางกลับกัน นักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากครูในโรงเรียนใหม่ มากกว่าครูในโรงเรียนเดิม ความสนใจในการเรียนก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วย ในการศึกษาวิจัยชิ้นที่ 3 พบว่า นักเรียนรูสึกดี (ทางจิตวิทยา) และเรียนได้ดี (ทางวิชาการ) เมื่อเขารู้สึกว่า โรงเรียนใหม่ สนับสนุนให้นักเรียนทุกคน ทำให้ดีที่สุด (บรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียน) มากกว่าตอกย้ำการแข่งขัน เพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ

ดังนั้น การลดลงในแรงจูงใจ (Motivation) ในการเรียน และผลการเรียน (Performance) ที่ตกต่ำ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อนักเรียนย้ายโรงเรียนจากประถมศึกษาไปยังมัธยมศึกษา แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่สภาพแวดล้อมของโรงเรียนใหม่แย่กว่าโรงเรียนเดิม แล้วเราจะแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร?

พ่อแม่สามารถช่วยได้ โดยการรับรู้อุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านของลูกวัยรุ่น แล้วสื่อสารความเข้าใจนี้ไปยังลูกวัยรุ่น การศึกษาวิจัยหนึ่ง พบว่า วัยรุ่นที่มีพ่อแม่ที่ปรับตัวได้ (In tune) กับพัฒนาการของลูก และฟูมฟัก (Foster) อิสรภาพในการตัดสินใจของลูก จะทำให้ลูกวัยรุ่นปรับตัวได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเพิ่มขึ้นในการประเมินคุณค่าตนเอง (Self-esteem)

ครูก็สามารถช่วยได้ โดยการเน้นจุดมุ่งหมายของเรียนให้รอบรู้ (Mastery) มากกว่าคะแนนสอบ และแสวงหาความคิดเห็นของพ่อแม่ในวิชาการ และให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในช่วงเปลี่ยนผ่านของนักเรียน ซึ่งมักเป็นช่วงความร่วมมือ (Collaboration) ที่ลดลงระหว่างครูกับพ่อแม่ ในขณะที่นักเรียนรู้สึกเครียดกับโรงเรียนใหม่ เพราะการสนับสนุนทางสังคม (Social support) ยังมีไม่มาก

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมการสอน-การเรียนที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับสถานการณ์เช่นนี้ จะช่วยให้นักเรียนปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนใหม่ได้ดี และลดโอกาส การออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร (Drop-out) นอกจกานี้ ยังนานาปัจจัยบริบท (Contextual factor) ที่มีปฏิกิริยาต่ออิทธิพลในพัฒนาการของวัยรุ่น อาทิ วิถีของพ่อแม่ (Parental style) การเลือกคบเพื่อน และทิศทางชีวิต

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Self-identity - http://www.ehow.com/facts_7655050_self-identity.html [2015, January 17].