จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 72 : ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ (3)

จิตวิทยาวัยรุ่น

การแย่งชิงอำนาจ (Power struggle) เป็นผลที่ตามมาจากการแสวงหาอิสรภาพของวัยรุ่น ซึ่งมักสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งกับพ่อแม่ได้ ด้วยความรู้สึกในเชิงบวกซึ่งกันและกัน ผ่านการเจรจารอบใหม่ เพื่อให้ความสัมพันธ์อยู่ในระดับเสมอภาคยิ่งขึ้น ดังนั้นวัยรุ่นที่แสวงหาอิสรภาพ ได้กลายเป็นผู้พึ่งพาตนเอง เมื่อสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ “เสมือนเพื่อน” กับพ่อแม่ได้

ความรู้สึกในเชิงบวก เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะมีข้อสมมุติฐานของพัฒนาการทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นในเชิงลบ [เจ้าอารมณ์(Moody)] ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) จากวัยเด็กสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะผู้ที่มองตนเองว่าโดดเดี่ยวอ้างว้าง มีการประเมินคุณค่าในตนเองที่ต่ำ หรือแสดงพฤติกรรมผิดปรกติเล็กน้อย

ผลจาการวิจัยแสดงว่า จากช่วงต้นของวัยรุ่น อารมณ์ฉุนเฉียวจะค่อยๆ ลดน้อยลง จนถึงช่วงกลางของวัยรุ่น และเริ่มกลายเป็นบวกอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายของวัยรุ่นและช่วงต้นของวัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นส่วนมากสามารถจัดการ (หรือปรับตัว) กับการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ของตนเองได้ดีพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การวิจัยครั้งหนึ่งพบว่า ในวัยรุ่นประมาณ 15% ถึง 20% มีบางช่วง (Bout) ของการซึมเศร้า (Depression) ที่รุนแรง หรือเริ่มเป็นปัญหาจิตเวช โดยที่สาววัยรุ่นมีจำนวนมากกว่าหนุ่มวัยรุ่น ที่แสดงอาการดังกล่าว จึงมักมีคำถามว่า “ทำไม วัยรุ่นจึงประสบปัญหาอารมณ์ในเชิงลบทันที?

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและฮอร์โมนหลังการ “สุกงอมทางเพศ” (Sexual maturation) อาจเป็นสาเหตุของอารมรณ์ร้อน และความไม่สงบนิ่ง (Restlessness) อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเชื่อมั่นว่า การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมที่วุ่นวาย (Hassle) ในชีวิตประจำวันร่วมกับแม่ ครู และเพื่อนรุ่นราวคราวเรียวกัน (Peer) สามารถอธิบายถึงแนวโน้มที่ลดลงของอารมณ์ในเชิงบวก

สิ่งนี้สอดคล้องกับมิติของความเครียดในชีวิต จนเกิดความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นในประเด็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลและการปกครองตนเอง (Self-governance) ดังนั้น หากความเครียดภายในครอบครัวลดลง แนวโน้มของอารมณ์ในเชิงลบก็จะลดลงด้วย นักวิจัยจึงพบว่า ความเครียดในชีวิต เป็นดัชนีชี้บ่งถึงผลกระทบต่อวัยรุ่น

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระดับที่สูงขึ้นของความเครียด (ในหลากหลายชนิด) เป็นสาเหตุใหญ่ของผลกระทบในเชิงลบต่อวัยรุ่น จนเกิดเป็นโรคซึมเศร้า สาววัยรุ่นมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบนี้มากกว่าหนุ่มวัยรุ่น เนื่องจากตั้งแต่วัยก่อนเข้าโรงเรียน เด็กหญิงจะให้ความสำคัญกับการธำรงรักษาความสัมพันธ์ที่ปรองดอง (Harmony) จนถึงวัยรุ่น

ในการศึกษาบันทึกประจำวันของสาววัยรุ่นอายุระหว่าง 13 ปี ถึง 15 ปี พบว่า เธอทั้งหลายไม่เพียงแต่รายงานประสบการณ์ความเครียดกับสมาชิกครอบครัว เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) และแฟน (Romantic partner) มากกว่าหนุ่มวัยรุ่น แต่ก็มีปฏิกิริยาในเชิงลบมากกว่า ต่อหลากหลายประเภทของตัวก่อความเครียด (Stressor) โดยเฉพาะกับเพื่อนฝูง

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Cords - http://www.alchemyrealm.com/cords.htm [2015, March 3].