จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 69 : ผลกระทบจากวิถีพ่อแม่ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

วิถีของการเป็นพ่อแม่ (Parenting style) ที่แตกต่างกัน ก็มีอิทธิพลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อพัฒนาการการรับรู้ สังคม และบุคลิกภาพของวัยรุ่น สำหรับพ่อแม่ในประเภทเผด็จการ (Authoritarian) (ซึ่งถือว่าเป็นการปกครองที่ “แข็งเกินไป”) การเชื่อฟัง (Obedience) ถือเป็นคุณงามความดี (Virtue) มีการลงโทษ และเคร่งครัดในวินัย เพื่อให้ลูกวัยรุ่นอยู่ในกรอบ

หนุ่มวัยรุ่นจากครอบครัวที่มีพ่อแม่เผด็จการ จะค่อนข้างมีเจตนาร้าย (Hostile) ในขณะที่สาววัยรุ่นจากครอบครัวดังกล่าวจะค่อนข้างพึ่งตนเองไม่ได้ (Dependent) และยอมแพ้ง่าย (Submissive) [ไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งพอในการเผชิญกับปัญหาในชีวิต]

พ่อแม่ในประเภททรงอิทธิพล (Authoritative) (ซึ่งถืว่าเป็นการปกครองที่ “เดินสายกลาง”) มักให้คุณค่าต่อการแสดงออก (Expressive) และการพึ่งพาตนเอง (Independent) แต่ก็เรียกร้อง (Demanding) พอสมควร ในขณะที่วัยรุ่นที่มีพ่อแม่ดังกล่าว ค่อนข้างจะมีความสามารถ (Competent) สูง

สาววัยรุ่นจากครอบครัวที่มีพ่อแม่ทรงอิทธิพล มีแนวโน้มสูงที่จะประสบความสำเร็จ (Achievement-oriented) ในขณะที่หนุ่มวัยรุ่นจากครอบครัวดังกล่าว จะเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูง และให้ความร่วมมือ (Cooperative) ในการทำงาน สาววัยรุ่นจากครอบครัวในประเภทพ่อแม่ตามใจลูก (Permissive) (ซึ่งถือว่า เป็นการปกครองที่ “นิ่มเกินไป”) ค่อนข้างจะไม่กล้าแสดงออกทางสังคม (Socially assertive) แต่วัยรุนทั้งหนุ่มและสาวดังกล่าว มีแนวโน้มที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า แต่ละวิถีของการเป็นพ่อแม่ (Parenting style) มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน พ่อแม่เผด็จการ ซึ่งมักเป็นผู้เรียกร้อง (Demanding) มาก จะได้ประโยชน์ในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาพฤติกรรมในวัยรุ่น แต่ก็มีผลเสียต่อวัยรุ่นในแง่ที่ทำให้ลูกวัยรุ่นคอยแต่ทำตาม (Conform) อย่างเดียว จึงประเมินค่าตนเอง (Self-esteem) ค่อนข้างต่ำ

พ่อแม่ทรงอิทธิพล ผู้ซึ่งระบุเรื่องคุณค่าอย่างชัดเจน ได้ประโยชน์จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นที่ผูกพันด้วยความรัก (Loving) และส่งเสริม (Supportive) ซึ่งกันและกัน อันส่งผลให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจต่อเพื่อนฝูง ให้ความร่วมมือ มีแนวโน้มสูงที่จะประสบความสำเร็จ และมักปรับตัวได้ดีเมื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

ส่วนพ่อแม่ที่ตามใจลูกวัยรุ่น มีข้อดีตรงที่ไม่เรียกร้องมากนัก และบังคับใช้กฎเกณฑ์น้อย แต่ก็มีผลเสียตรงที่ทำให้ลูกไม่กล้าแสดงออกทางสังคมมากนัก และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จน้อยกว่าวัยรุ่นที่มีพ่อแม่ทรงอิทธิพล กระบวนการสังคม (Socialization) ภายในครอบครัว เป็นเรื่องของอิทธิพลซึ่งกันและกัน และอาจเป็นการง่ายกว่า ที่พ่อแม่จะสนองตอบอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกวัยรุ่นหัวอ่อน (Levelheaded) เมื่อเปรียบเทียบกับลูกวัยรุ่นที่หยาบคาย (Rude) ดุร้าย (Hostile) และดื้อรั้น (Unruly)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Diana Baumrind - http://en.wikipedia.org/wiki/Diana_Baumrind [2015, February 21].