จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2 จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 52 : กีฬากับคุณค่าในตนเอง (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmentalist) เริ่มพิจารณาถึงผลประโยชน์ของการเล่นด้วยการออกกำลังกายอย่างกระฉับกระเฉง (Physical active play) โดยคาดเดา (Speculate) ว่า เป็นกลไก (Mechanism) ของการสร้างความแข็งแกร่งและความทนทาน (Endurance) ให้กล้ามเนื้อใหญ่ และอาจลดระดับไขมันในวัยรุ่นที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต

การออกกำลังกาย มักเพิ่มขึ้นระดับสูงสุดในช่วงวัยรุ่น แล้วเริ่มลดลงหลังจากนั้น ปรากฏการณ์นี้จะเห็นได้ชัดในสาววัยรุ่นมากกว่าหนุ่มวัยรุ่น ซึ่งช่วยอธิบายการลดลงของความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อใหญ่ในบรรดาสาววัยรุ่น เมื่อแปรียบทียบกับบรรดาหนุ่มวัยรุ่น

อันที่จริงการออกกำลังกายทุกประเภทมีผลกระทบในเชิงบวกต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะช่วยร่างกายผลิตสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ที่ทำให้รู้สึกสดชื่น ในขณะเดียวกันก็ลดสารเคมีที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune) อ่อนแอ การออกกำลังกายอย่างกระฉับกระเฉงยังช่วยคลายความเครียด (Tension) ในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การพักผ่อนหย่อนคลายที่ให้ผลดีต่อสุขภาพ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา สังคมอเมริกัน [และไทยด้วย] ได้ส่งเสริมกิจกรรมออกกำลังกายในบรรดาสาววัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นกีฬาที่มีการแข่งขัน หรือไม่มีการแข่งขัน (Non-competitive) โปรแกรมสำหรับนักกีฬาหญิงในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (High school) ได้ขยายตัวอย่างมากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

บริษัทเอกชน อาทิ ไนกี้ (Nike) ได้เข้าสู่สนามการเล่น (Playing field) ด้วยการรณรงค์โฆษณา (Advertising campaign) ซึ่งแสดงถึงสาววัยรุ่นที่เชิญชวนว่า “ถ้าฉันได้โอกาสเล่นกีฬา . . .” แล้วระบุนานาประโยชน์ทางสุขภาพและสังคม (อาทิ การเห็นคุณค่าในตนเอง [Self-worth]) ที่จะได้รับจากการเล่นกีฬา

การอ้างดังกล่าว มีมูลความจริงหรือไม่? ทีมงานนักวิจัยได้สร้างแบบสอบถามอย่างละเอียด (Elaborate questionnaire) ที่วัดผลทั้งทางลึกและทางกว้างของสาวนักศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเล่นกีฬาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ระหว่างที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนเปลาย

ทีมนักวิจัยขอให้ผู้เข้ารับการสำรวจ ตอบแบบสอบถามที่ได้รับการออกแบบ เพื่อประเมินในประเด็น (1) ระดับการประเมินคุณค่าในตนเอง (2) ความรู้สึกเกี่ยวกับ “สมรรถนะ” (Competency) ทางร่างกาย (3) ภาพลักษณ์ (Image) ของร่างกาย และ (4) การมีคุณลักษณ์ (Attribute) ที่พึงปรารถนาของ “ชายชาตรี” (Masculine) อาทิ ความกล้าแสดงออก (Assertive) และความรู้สึกที่ดีๆ (Healthy) ในเรื่องการแข่งขัน

ผลลัพธ์ที่ออกมาสนับสนุนการกล่าวอ้างของการรณรงค์ของรองเท้าไนกี้ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่าง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬาของสาววัยรุ่นในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย กับการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ในเวลาต่อมาของชีวิต

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. How Sports Affect Self-Esteem - 2. How Sports Affect Self-Esteem [2014, December 23].