จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 49 : วัยรุ่นมองตนเอง (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เมื่อเด็กเริ่มเจริญเติบโตจนกลายเป็นวัยรุ่น เขาจะค่อยๆ วิวัฒนามุมมองตนเอง จากรายการต่างๆ (Listing) ทางร่างกาย พฤติกรรม และคุณลักษณะภายนอก (External attribute) ไปสู่ภาพคร่าวๆ (Sketch) ของคุณสมบัติภายใน (Internal quality) ที่คงทนถาวร (Enduring) กล่าวคืออุปนิสัย (Trait) ค่านิยม (Value) ศรัทธา (Belief) และอุดมคติ (Ideology)

การเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการไปยังสิ่งที่เป็นนามธรรม (Abstract) หรือจิตใจ (Psychological) ในมุมมองตนเอง สะท้อน (Portray) ออกมาให้เห็นดังตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามว่า “ฉันคือใคร?”

  • เด็กอายุ 9 ขวบ - ผมชื่อ ก เป็นเด็กชายมีนัยน์ตาสีดำ ผมสีดำ ผมชอบเล่นกีฬา ผมมีพี่น้อง 5 คน ผมมีเพื่อนมากมาย บ้านของผมอยู่แถว . . . ผมมีลุงคนหนึ่งตัวสูงกว่า 170 เซ็นติเมตร ครูของผมชื่อ . . . ผมชอบกิน และชอบไปโรงเรียน ผมเป็นคนที่เกือบฉลาดที่สุดในชั้นเรียน
  • เด็กโตอายุ 11.5 ปี - หนูชื่อ ข เป็นเด็กหญิงที่พูดความจริง (Truthful) ไม่โกหก หนูไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ หนูเป็นคนหัวโบราณ (Old-fashioned) การเรียนก็ดีปานกลาง หนูชอบเล่นดนตรี หนูค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่หนูก็เป็นนักว่ายน้ำที่เก่ง หนูพยายามช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้ว หนูอารมณ์ดี แต่บางครั้งก็ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ หนูม่ใช่คนโปรดปราน (Well-liked) ของใครมากนัก
  • วัยรุ่นอายุ 17 ปี - ฉันชื่อ ค เป็นมนุษย์ [เต็มตัว] ฉันเป็นสาวที่เป็นตัวของตัวเอง เกิดราศ่กุมภ์ (Pieces) และเป็นคนเจ้าอารมณ์ ฉันไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ (Indecisive) แต่เป็นคนทะเยอทะยาน (Ambitious) ฉันเป็นคนขี้สงสัย (Curious) และชอบความโดดเดี่ยว มีอิสระในความคิด (Liberal) กล้าถอนรากถอนโคน (Radical) แต่ก็มีความเป็นอนุรักษ์นิยม (Conservative) ฉันไม่นับถือพระเจ้า (Atheist) และไม่สนใจการเมืองมากนัก

นอกจากการใช้ศัพท์ทางจิตใจมากขึ้น เพื่ออธิบายตนเอง วัยรุ่นเริ่มมีการรับรู้ว่า เขามิใช่คนเดียวกันในทุกสถานการณ์ บางครั้งก็เป็นปริศนา (Puzzle) หรือน่ารำคาญใจ (Annoy) นักวิจัยได้สอบถามวัยรุ่น อายุ 13, 15 และ 17 ปี ให้อธิบายตนเอง เมื่อเขาอยู่กับ (1) พ่อแม่ (2) เพื่อนฝูง (3) คู่รัก และ (4) ครูและเพื่อนร่วมชั้น

ผู้เข้าร่วมการสำรวจแต่ละคน ได้รับการร้องขอให้อ่านคำอธิบายตนเอง (Self-description) 4 ชุด โดยให้เลือกชุดที่ไม่สอดคล้อง (Inconsistency) กับชุดอื่นๆ แล้วแจ้งให้ทราบว่า รู้สึกสับสนอย่างไร? หรือไม่พอใจเพียงใด? ผลปรากฏว่า วัยรุ่นอายุ 13 ปี รายงานว่า พบความไม่สอดคล้องเพียงเล็กน้อย และไม่รู้สึกรำคาญใจมากนักกับสิ่งที่ค้นพบ

แต่วัยรุ่นอายุ 15 ปี แจ้งรายการที่ไม่สอดคล้องมากมาย และมักสับสนกับรายการดังกล่าว เด็กคนหนึ่งพูดถึงความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อนฝูงแต่รู้สึกซึมเศร้า (Depressed) เมื่ออยู่ที่บ้าน วัยรุ่นกลุ่มนี้ดูเหมือนจะมีหลายตัวตนอยู่ข้างใน [จิตใจ] และรู้สึกกังวลที่จะค้นหา “ตัวตนที่แท้จริง” (Real me!)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Self-perception theory - http://en.wikipedia.org/wiki/Self-perception [2014, December 13].