จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 46 : พัฒนาการการรับรู้ในวัยรุ่น (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เมื่อผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ของวัยรุ่น ได้ยินคำว่า “วัยรุ่น” (Adolescence) ก็มักจะทำ “หน้านิ่ว คิ้วขมวด” เพราะจะทำให้ระลึกถึงเวลาแห่งปัญหา จนกระทั่งคริสต์ทศทวรรษ 1990 (ระหว่าง พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2542) นักวิจัยเชื่อว่า “วัยรุ่น วุ่นวาย” ด้วยมรสุมชีวิต (Storm) และความเครียด (Stress) ความรู้สึกอึดอัด อารมณ์หวั่นไหว และความขัดแย้งกับพ่อแม่ที่น่ารำคาญใจ

อย่างไรก็ตาม การวิจัยในปัจจุบัน ได้วาดภาพลักษณ์ที่แตกต่างของวัยรุ่น แม้ความรู้สึกดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มาแล้วก็ไป และมิใช่วัยรุ่นทุกคนจะประสบช่วงเวลาแห่งความเลวร้าย การวิจัยปัจจุบัน ยังค้นพบว่า ท่ามกลางมรสุมความเครียด วัยรุ่นก็เป็นช่วงเวลาของพัฒนาการอย่างรวดเร็วทางอารมณ์ สังคม และการรับรู้ ระหว่างที่เปลี่ยนแปลงจากวัยเด็ก (Childhood) ไปสู่วัยผู้ใหญ่ (Adulthood)

ในขณะที่ร่างกายมีความพร้อมทางเพศ (Sexually mature) วัยรุ่นก็ได้พัฒนาวิถีใหม่ของการคิดและการใช้เหตุผล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของพัฒนการการรับรู้ (Cognitive) ในความหมายของวิธีการที่วัยรุ่นมองเห็น คิด และเข้าใจโลกของเขา ผ่านปฏิสัมพันธ์และอิทธิพลของปัจจัยพันธุกรรมและการเรียนรู้

ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิสผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นเจ้าของความคิด 4 ขั้นตอนของพัฒนาการการรับรู้ อันได้แก่ (1) การเคลื่อนไหวตามประสาทสัมผัส (Sensimotor) (2) ก่อนเริ่มปฏิบัติการ (Preoperational) (3) ปฏิบัติการเชิงรูปธรรม (Concrete operations) และ (4) ปฏิบัติการที่สมบูรณ์ (Formal operations)

เขาเชื่อว่า ทุกคนต้องผ่านกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนดังกล่าว ในแต่ละขั้นตอนหลัง จะได้รับการพัฒนาขึ้นจากขั้นตอนก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการคิดและการมีเหตุผล เขาได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ใน 4 ขั้นตอนของพัฒนาการการรับรู้ ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาที่ยังเป็นวัยทารกไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

ขั้นตอนที่ 4 เป็นขั้นตอนของวัยรุ่นอายุ 12 ปีจนสู่วัยผู้ใหญ่ ในระหว่างขั้นตอนนี้ วัยรุ่นพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างนามธรรม (Abstract) หรือแนวความคิดสมมุติฐาน (Hypothetical concept) เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ จากมุมมอง และแก้ปัญหาการรับรู้ด้วยวิธีการตรรกกะ (เหตุผล)

การมีความสามารถในการคิดและถกเถียงในเรื่องความคิดนามธรรม หมายความว่า วัยรุ่นสามารถคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical thinking) ในเรื่องความเชื่อถือ (Belief) ทัศนคติ (Attitude) ค่านิยม (Value) และจุดมุ่งหมาย (Goal) ตลอดจนหัวข้ออื่นๆ ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ตัวอย่างเช่น เมื่อวัยรุ่นถูกถามถึงความกังวัลใจ มักจะมีเรื่องการแต่งงาน การมีเพื่อนฝูง การเรียนดีในโรงเรียน และการมีงานทำแต่ละเรื่องเกี่ยวข้องกับความสามารถในการพูดคุยเรื่องแนวความคิดนามธรรม ซึ่งเป็นทักษะการรับรู้ที่เขากำลังเรียนรู้ในขั้นตอนปฏิบัติการที่สมบูรณ์ นั่นเอง

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
  2. Theory of cognitive development - http://en.wikipedia.org/wiki/Theory_of_cognitive_development, [2014, December 2].