จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 39 : ผลทางจิตจากวัยเจริญพันธุ์ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

ผลการวิจัยยังแสดงว่า สำหรับวัยรุ่นบางคน ความกลัวต่อสุขภาพที่ไม่ดี (Morbid fear) โดยเฉพาะภาวะอ้วนเกิน (Obesity) และพฤติกรรมควบคุมน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม ยังคงดำเนินอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงสูงของภาวะซึมเศร้า (Depression) และความกังวล (Anxiety)

ผลที่ตามมา (Consequence) ทางร่างกาย ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของภาวะกินอาหารมากเกินไป (Bulimia nervosa) ได้แก่ [เนื้อเยื่อของ] ท่อหลอดอาหาร (Esophageal tube) ถูกทำลายและเนื้อฟันสึกกร่อน (Tooth enamel erosion) อันเนื่องมาจากการบังคับตนเองให้อาเจียน (Self-induced vomiting) และพัฒนาการของภาวะอ้วนเกิน

ภาวะอ้วนเกินในวัยรุ่น เป็นตัวพยากรณ์ (Predictor) ที่ค่อนข้างแม่นยำของภาวะอ้วนเกินในผู้ใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาวะกินอาหารมากเกินไปในวัยรุ่น ทำให้เขามีความเสี่ยงสูงในประเด็นสุขภาพในเวลาต่อมาของชีวิต อาทิ เบาหวาน (Diabetes) หัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attack) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

อัตราการตายที่สัมพันธ์กับภาวะจำกัดอาหารจนเกินไป (Anorexia nervosa) ได้ลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ผลที่ตามมาของการอดอาหาร (Starvation) ที่สัมพันธ์กับภาวะดังกล่าว ยังคงมีอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น การทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid) และหัวใจ (Cardiac) อาจหย่อนยานลง (Compromise) จนทำลายโครงสร้าง (Structural damage) ของหัวใจ ทำให้ท้องผูก (Constipation) และซูบผอมจนผิดปรกติ (Emaciation)

การฉายแสงความหนาแน่นของกระดูก (Bone-density scan) ในสาววัยรุ่นที่อดอาหาร พบระดับแคลเซียมที่ต่ำกว่าปรกติมาก ในช่วงวัยรุ่น ร่างกายจะเริ่มพัฒนาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมวล (Mass) กระดูกในผู้ใหญ่ จนเต็มศักยภาพเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่ (Young adulthood)

ภาวะจำกัดอาหารจนเกินไป จึงไปขัดขวาง มิให้ร่างกายได้รับแคลเซี่ยมและแร่ธาตุอื่นๆ อย่างเพียงพอ สาววัยรุ่นที่มีน้ำหนักกายต่ำมากๆ อาจประสบปัญหาประจำเดือนขาด (Amenorrhea) ซึ่งมีผลกระทบในเชิงลบ (Adverse) ต่อความหนาแน่นของกระดูก เนื่องจากฮอร์โมนเพศควบคุมอัตราการไหวเวียนของวัสดุในกระดูก

ผลกระทบจากฮอร์โมนเพศของประจำเดือนขาด ทำให้สาววัยรุ่นที่จำกัดอาหารจนเกินไป ประสบกับการสูญเสียกระดูก (Bone loss) ในขณะที่ทั้งหนุ่มและสาวมวัยรุ่นที่จำกัดอาหารจนเกินไป จะขาดพัฒนการของแคลเซี่ยมที่เพียงพอต่อร่างกาย เว้นแต่ว่าจะได้รับการฟื้นฟู (Restoration) ผ่านการบริโภคสารอาหาร (Nutrient) ที่เพียงพอ และได้ผลในเรื่องน้ำหนักเพิ่ม

ส่วนการทำงานของต่อมไทรอยด์และหัวใจ สามารถกลับคืนสู่ปรกติ หากกล้ามเนื้อหัวใจ ยังไม่ถูกทำลายอย่างถาวร ในขณะที่ระบบสืบพันธุ์ของสาววัยรุ่น ก็สามารถกลับคืนสู่วงจรปรกติได้ แต่เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว วัยรุ่นต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของตนเองในเรื่องน้ำหนักอย่างจริงจัง

แหล่งข้อมูล

  1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
  2. Psychological Effects of Puberty - http://www.ehow.com/facts_5507256_psychological-effects-puberty.html [2014, October 8].