จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 28 : การรับมือกับปัญหาทางเพศ (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

โครงการที่คล้ายกับโปรแกรม “เข้าถึงวัยรุ่น” (Teen Outreach) ในสหรัฐอเมริกาแต่ไปลงมือปฏิบัติในประเทศเม็กซิโก ได้เน้นหนักเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด (Contraception) และความเสี่ยงทางเพศ การฝึกอบรมทักษะชีวิตในเรื่องการสื่อสาร การกล้าพูดกล้าแสดงออก (Self-assertion) และการตัดสินใจในประเด็นทางสังคม ได้ประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อเปรียบเทียบกับโปรแกรมเพศศึกษาแบบดั้งเดิม (Traditional) ซึ่งไม่ค่อยได้สอนวัยรุ่นถึงวิธีการรับมือกับความต้องการทางเพศ (Sexual desire) และการยับยั้งการรุกรานทางเพศ (Sexual advance) โปรแกรมใหม่ได้ให้โอกาสวัยรุ่นมีส่วนร่วมในการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล ทำให้วัยรุ่นมองโลกในแง่ดี (Optimistic) เกี่ยวกับอนาคตของตนเอง และความสามารถในการรับมือการความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ซึ่งช่วยให้แนวโน้มการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดน้อยลง

โปรแกรมเพศศึกษาอย่างเป็นทางการ จะสอนเพียงแต่ข้อเท็จจริงตามชีววิทยา ในเรื่องการสืบพันธุ์ (Reproduction) แต่การให้บริการเกินกว่านั้น อาจเป็นการแทรกแซง (Intervention) ที่ได้ผลกว่า

ตัวอย่างเช่น โปรแกรมที่เน้นหนักเรื่องการละเว้น (Abstinence) กิจกรรมทางเพศ จะมีประสิทธิผลในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ และการส่งเสริมทัศนคติปรับตัว (Adaptive) ในเรื่องเพศ แต่จะไม่มีประสิทธิผลในเรื่องการชะลอกิจกรรมทางเพศ (Sexual activity) การส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

โปรแกรมที่ประสบผลสำเร็จในการชะลอกิจกรรมทางเพศ และเพิ่มการใช้สิ่งคุมกำเนิด (Contraceptive) มักจะต้องอาศัยมาตรการ 2 ทางด้วยกัน กล่าวคือ

(1) สอนวัยรุนช่วงต้น ว่าการละเว้นกิจกรรมทางเพศ สามารถป้องกัน (Shield) ความเสี่ยงทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูง และความเสี่ยงทางอารมณ์ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางเพศ และ (2) ให้ข้อมูลมากมาย (Ample) แก่วัยรุ่นช่วงปลาย เกี่ยวกับสิ่งคุมกำเนิด และมาตรการที่วัยรุ่นสามารถใช้ในการยับยั้งแรงกดดันที่จะมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ ยังมีประจักษ์หลักฐานจากยุโรปตะวันตกว่า การแจกจ่ายถุงยางอนามัย (Condom) ให้วัยรุ่นฟรี [กล่าวคือ ให้เปล่า] มิได้ส่งเสริมให้วัยรุ่นที่ไม่มีแรงกระตุ้นทางเพศ ให้กลายเป็นวัยรุ่นที่มีแรงกระตุ้นทางเพศแต่อย่างใด ดังนั้น นักการศึกษาอเมริกันจำนวนมากจึงได้เรียกร้องให้มีโปรแกรมดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาด้วย

ผู้ที่สนับสนุนให้มีหลักสูตรเพศศึกษาที่เข้มข้นแต่เนิ่นๆ และการเข้าถึงสิ่งคุมกำเนิดฟรี เชื่อมั่นว่า มีโอกาสน้อยมากในการป้องกันผลที่จะตามมา (Consequence) ของการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เว้นแต่วัยรุ่นจะยอมชะลอการมีเพศสัมพันธ์หรือปฏิบัติการเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย (Safe-sex practice)

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Teen Outreach Program - http://www.advocatesforyouth.org/publications/1133?task=view [2014, September 30].