จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 20 : ประเด็นความต้องการทางเพศ (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือนิตยสาร ตลอจนเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมชั้น มักจะพูดถึงหรือสร้างภาพ (Portray) เรื่องเพศ (Sex) ในทำนองที่น่าตื่นเต้น ซึ่งจะกระตุ้นและส่งเสริมให้วัยรุ่น (Adolescent) ได้ลองร่วมเพศ (Sexual intercourse) ก่อนที่วัยรุ่นจะมีความพร้อมทางอารมณ์ด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาเด็กสาว 174 คน ที่มีอายุถัวเฉลี่ย 13 ปี ส่วนใหญ่กล่าวว่า เธอยังเด็กเกินไป เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยที่เหตุผลของเพศสัมพันธ์ครั้งแรก (ตามลำดับความถี่) ก็คือ (1) เสน่ห์ (Attractive) ดึงดูดทางร่างกาย (2) ความอยากรู้อยากเห็น (Curious) (3) การอยู่ลำพังกับแฟน และ (4) การรับรู้ว่าเพื่อนๆ ทุกคนล้วนมีเพศสัมพันธ์กันทั้งนั้น

เมื่อมองย้อนหลัง เด็กสาวส่วนใหญ่สะท้อนความคิดว่า เธอควรจะรอคอย [ให้อายุมาก] กว่านี้ ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ [ครั้งแรก] เพราะนอกจากเธอยังไม่พร้อม แล้วยังไม่เข้าใจความเสี่ยงของการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

พ่อแม่ส่วนใหญ่ องค์กรสุขภาพทางจิต (Mental health) และกลุ่มศาสนาต่างๆ แนะนำวัยรุ่นมิให้มีเพศสัมพันธ์เร็วเกินไป และให้รอคอยจนกว่าจะมีความพร้อมทางอารมณ์ จึงค่อยมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด (Intimate) ดังกล่าว แต่เมื่อเผชิญกับแรงกดดันที่ขัดแย้งกัน วัยรุ่นจำนวนมาก ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรเมื่อมีความรู้สึกทางเพศ (Sexually active) เกิดขึ้น?

ตัวอย่างเช่น เด็กสาวคนหนึ่ง เปิดเผยว่า “ที่โรงเรียน ครูสอนเรื่องกายวิภาค (Anatomy) แต่เมื่อถึงเวลา สิ่งที่หนูจำเป็นต้องรู้ก็คือทุกๆ ด้านของการมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่ม . . . หนูพร้อมหรือยังสำหรับการร่วมรัก/การร่วมเพศ (Make love) กับหนุ่มที่หนูคิดว่ามีความรักสุดซึ้งด้วย?”

คำพูดเหล่านี้สะท้อนถึงความกังวลของวัยรุ่นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศและความรัก ซึ่งนำไปสู่รูปแบบใหม่ที่ เรียกว่า Bio-Psycho-Social Model ที่มองพัฒนาการของวัยรุ่นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ในหลายๆ ระดับ อันรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่มีปฏิสัมพันธ์ และอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่างปัจจัยทางเพศ การรับรู้ (Cognitive) สังคม และบุคลิกภาพ

ในรูปแบบนี้พฤติกรรมทางเพศ ไม่สามารถอธิบายได้โดยปราศจากปัจจัยที่เหลือ ตัวอย่างเช่น ฮอร์โมนเพศ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่สำคัญ แต่ยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ อีกด้วย

ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ เด็กหนุ่มและสาว มีความพร้อมทางร่างกายสำหรับการสืบพันธุ์ วัยรุ่นอาจประสบกับอารมณ์ที่หวั่นไหวมาก และความต้องการ (Desire) ทางเพศที่นำไปสู่การค้นหาทางออกในรูปแบบของความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม ซึ่งอาจลงเลยด้วยกิจกรรมทางเพศ

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Human sexual activity - http://en.wikipedia.org/wiki/Human_sexual_activity [2014, September 2].