จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 17 : พัฒนาการการเคลื่อนไหวในวัยรุ่น (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

เด็กชายและเด็กหญิงมีความสามารถทางร่างกายเกือบเท่ากันจนถึงวัยเจริญพันธุ์ (Puberty) หลังจากนั้น หนุ่มวัยรุ่นเริ่มเพิ่มขีดความสามารถ เมื่อมีสดทอบกิจกรรมที่อาศัยกล้ามเนื้อใหญ่ (Large muscle) ในขณะที่ทักษะสาววัยรุ่น เริ่มอยู่ตัว (Level off) หรือลดลงด้วยซ้ำ ความแตกต่างทางเพศดังกล่าว บางส่วนอธิบายได้ในทางชีวภาพ (Biological)

กล่าวคือ หนุ่มวัยรุ่น มีกล้ามเนื้อมากกว่า และไขมันน้อยกว่าสาววัยรุ่น และสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะผ่านการทดสอบความแข็งแรงทางร่างกายเหนือกว่าสาววัยรุ่น แต่พัฒนาการทางชีวิภาพ ก็ไม่สามารถอธิบายความแตกต่างทั้งหมดในการทำงาน (Performance) ของกล้ามเนื้อใหญ่ระหว่างหนุ่มวัยรุ่นกับสาววัยรุ่น โดยเฉพาะไม่สามารถอธิบายได้ครบถ้วนถึงความสามารถที่ลดลงในสาววัยรุ่น ที่ยังคงเจริญเติบโตจนร่างกายสูงกว่า และมีน้ำหนักมากกว่าหนุ่มวัยรุ่น ระหว่างอายุ 12 ปีถึง 17 ปี

นักวิจัยบางท่านเชื่อมั่นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลผลิต (Product) ของกระบวนการทางสังคม (Socialization) ในเรื่อง บทบาททางเพศ (Gender role) ในขณะที่ร่างกายของสาววัยรุ่นมีการขยายสะโพกและพัฒนาหน้าอก สาววัยรุ่นก็ได้รับการพร่ำสอนให้ลดความเป็นชาย (Boyish) ลง และเพิ่มความสนใจในกิจกรรมของสตรีตามประเพณีปฏิบัติ

แต่ก็มีความจริงในความคิด (Notion) ที่นักกีฬาสตรี ไม่ได้แสดงการทำงานที่ลดลงของกล้ามเนื้อใหญ่ เมื่อเวลาผ่านพ้นไป นอกจากนี้ บทบาททางเพศ ได้เปลี่ยนไปมากใน 2 ถึง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่นักกีฬาสตรีได้เพิ่มขีดความสามารถทางร่างกาย ในขณะที่ช่องว่างระหว่างความสามารถดังกล่าวของชาย-หญิงได้ลดลงอย่างมาก

ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า สาววัยรุ่นยังคงสามารถผ่านการทดสอบกิจกรรมที่อาศัยกล้ามเนื้อใหญ่ได้ไม่ยากนัก หากเลือกที่จะทำตัวกระฉับกระเฉง เธออาจได้รับประโยชน์ที่สำคัญทางจิตวิทยาอีกด้วย หากดำรงความกระฉับกระเฉงทางร่างกายตลอดช่วงอายุของวัยรุ่น

เมื่อไม่นานมานี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmentalist) เริ่มให้ความสนใจในผลประโยชน์ของการเล่น [เช่น กีฬา] อย่างกระฉับกระเฉงทางร่างกาย (Physically active play) โดยคาดเดา (Speculate) ว่า เป็นกลไก (Mechanism) ของการสร้างความแข็งแรง และทนทาน (Endurance) ของร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดระดับไขมันในร่างกายของวัยรุ่นที่กำลังเจริญเติบโต

การเล่นอย่างกระฉับกระเฉงทางร่างกายในวัยเด็ก ได้แก่ การวิ่ง การกระโดด การปีนป่าย การเล่นต่อสู้ หรือ หรือการเล่นเกมที่เพิ่มอัตราการสันดาปอาหาร (Metabolic rate) ให้สูงกว่าระดับการพักผ่อน ตัวอย่างเช่น กิจกรรมโยน (Toss) และขว้าง (Throw) ลูกบอล ที่เริ่มต้นในวัยเด็กจะได้รับการปรับปรุงตลอดเวลาจนถึงวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม การเล่นดังกล่าว จะทะยานขึ้นสูงสุดในช่วงกลางของวัยเด็ก (Middle childhood) แล้วเริ่มลดลงในสาววัยรุ่นอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าหนุ่มวัยรุ่น ซึ่งช่วยอธิบายการเสื่อมลงของพลังจากกล้ามเนื้อใหญ่ของสาววัยรุ่น

แหล่งข้อมูล

1. Shaffer David R. and Katherine Kipp (2010). Developmental Psychology : Childhood & Adolescence (8th Ed). Belmont, CA: Wadsworth-Cengage Learning.
2. Neural development - http://en.wikipedia.org/wiki/Neural_development [2014, August 23].