จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 13 : พัฒนาการสมองในวัยรุ่น (2)

จิตวิทยาวัยรุ่น

วัยรุ่น (Adolescent) มีความเสี่ยงถึง 20 เท่าของอัตราการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ เพราะวัยรุ่นไม่กังวลในเรื่องการดื่มเหล้า การขับรถเร็ว และการติดเข็มขัดนิรภัย (50% ไม่ยอมติดเข็มขัดนิรภัย) จึงไม่มีความกลัวต่ออุบัติภัย เพราะสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมดังกล่าว [เปลือกสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex)] ยังมิได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

อาณาบริเวณสมองดังกล่าว ไม่มีฐานประสาท (Neural basis) ที่จะคิดไกลไปข้างหน้า หรือตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่วัยรุ่น มีแนวโน้มของพฤติกรรมเสี่ยง อันเนื่องมาจากส่วนอื่นของสมองที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางอารมณ์

วัยรุ่นมักกระทำอะไรอย่างหุนหันพลันแล่น (Impulsive) อาทิ การเจาะลิ้น และอารมณ์หวั่นไหว (Swing) แม่รายหนึ่งสะท้อนว่า “เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็น่ารัก เดี๋ยวก็น่าชัง” แต่สิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ทราบก็คือ เปลือกสมองส่วนหน้าวัยรุ่นยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

วัยรุ่นจึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์อันอ่อนไหว แล้วยังหุนหันพลันแล่น อันเนื่องจากพัฒนาการโครงสร้างส่วนอื่นของสมองที่เรียกว่า “ศูนย์กลางอารมณ์” หรือระบบแตกแขนงของสมอง (Limbic system) ยังผลให้เกิดพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อาทิ ความตื่นเต้นที่จะได้นัดคู่ต่างเพศกิน-เที่ยว (Date) ความซึมเศร้าที่สอบตก หรือความโกรธจัดที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม

นักวิจัยพบว่า ฮอร์โมนเพศ [กล่าวคือ เทสโตสเตอโรน (Testosterone) ในเพศชาย และเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง] ได้คัดหลั่ง (Secreted) ในปริมาณมากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (Puberty) จะช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของโครงสร้างศูนย์กลางอารมณ์ นักวิจัยเชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของโครงสร้างและการทำหน้าที่ของศูนย์กลางอารมณ์ อธิบายถึงความน่ารำคาญของสาววัยรุ่น และความก้าวร้าวของหนุ่มวัยรุ่น

สรุปแล้ว นักวิจัยพบว่า เปลือกสมองส่วนหน้า มิได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่ศูนย์กลางอารมณ์ ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ การมีเปลือกสมองส่วนหน้าที่อ่อนแอ และศูนย์กลางอารมณ์ที่เข้มแข็ง ยังผลให้เกิดพฤติกรรมหลากหลายของวัยรุ่นที่น่ารำคาญ อาทิ พฤติกรรมเสี่ยง อารมณ์หวั่นไหว (Swing) และความหุนหันพลันแล่น

นักวิจัยผู้หนึ่งสรุปว่า “การตัดสินใจที่ดี เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ แต่จะเรียนรู้ไม่ได้ถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์ หรือพัฒนาการประสาท (Neural development) ที่จำเป็น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจด้านจริยธรรม (Moral)”

ในขณะเดียวกัน ความบกพร่องในพัฒนาการดังกล่าว นำไปสู่ภาวะด้อยความสามารถ (Disability) ในการรับรู้ (Cognitive) การเคลื่อนไหว (Motor) และสติปัญญา (Intellectual) ตลอดจนความผิดปรกติทางประสาท (Neurological disorder) อาทิ ออทิซึม (Autism) และปัญญาอ่อน (Mental retardation)

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Neural development - http://en.wikipedia.org/wiki/Neural_development [2014, August 9].