จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 12 : พัฒนาการสมองในวัยรุ่น (1)

จิตวิทยาวัยรุ่น

หนึ่งในจำนวนคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัยรุ่น (Adolescent) ก็คือ ทำไมบางคนถึงได้มีพัฒนาการช้าในเรื่องทักษะการคิดและการใช้เหตุผล เพื่อเตรียมเขาเหล่านั้นให้พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาและสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียด (Stressful) ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเป็นวัยรุ่น [หรือวัยวุ่น]

ตัวอย่างเช่น วัยรุ่นจำนวนมากรายงานว่า เขาไม่พร้อมที่จะมีการร่วมเพศ แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นกะทันหัน หรือเธอมักมีปากเสียงกับพ่อแม่ตลอดเวลา หรือไม่ก็ทำอะไรโง่ๆ อาทิ ดื่มจน “เมาแล้วขับรถ” นักวิจัยเพิ่งค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ว่า คำตอบอยู่ที่พัฒนาการสมองของวัยรุ่น

วัยรุ่นหนุ่มอเมริกันคนหนึ่งจัดงานเลี้ยงเพื่อนๆ ในขณะที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน โดยบุกรุกเข้าไปในห้องเก็บเหล้าไวน์ของพ่อ แล้วเข้าไปดื่มหรือทำลายเหล้าไวน์ที่มีราคาแพง เมื่อถูกพ่อแม่ถามว่า ทำไมไม่คิดก่อนทำลายของมีค่าของพ่อ เด็กหนุ่มวัยรุ่นคนนี้ตอบว่า “ดูเหมือนว่า ควรจะเป็นสิ่งที่ควรทำ”

พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไม่รับผิดชอบของวัยรุ่นนี้ (กล่าวคือ ไม่คิดก่อนทำ) ทำให้พ่อแม่จำนวนมากต้องปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะในสายตาของพ่อแม่ วัยรุ่นน่าจะรู้ (และทำ) ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่ นักวิจัยได้ค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าสมองของเด็กมิได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในวัยเจริญพันธุ์ (Puberty) แต่ยังคงอยู่ในกระบวนการพัฒนาการ โดยเฉพาะในอาณาบริเวณที่เกี่ยวของกับการคิดและการใช้เหตุผล

ในทุกๆ องค์กร จะมีผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบต่อการตัดสินใจ การวางแผนประจำวัน การจัดระเบียบองค์กร และการคำนึงถึงอนาคต ฉันใด ก็ฉันนั้น สมองของคนเราก็มีอาณาบริเวณหนึ่งที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ใกล้เปลือกสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex)

นักวิจัยใช้เครื่องถ่ายภาพ (Scan) เอมอาร์ไอ (MRI = Magnetic Renaissance Imaging) เพื่อให้เห็นการเจริญเติบโตและพัฒนาการภายในสมองของเด็กอายุระหว่าง 3 ขวบถึง 15 ปี การวิจัยนี้ค้นพบข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากความเชื่อก่อนหน้านี้ว่า อาณาบริเวณสมองดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่แล้วในวัยรุ่น

นักวิจัยพบว่า เปลือกสมองส่วนหน้ายังอยู่ในกระบวนการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่มีความสามารถในการคิด การตัดสินใจ การใช้เหตุผล หรือการวางแผนอย่างผู้ใหญ่ โดยนักวิจัยสรุปว่าสมองในวัยรุ่นนั้นมีพัฒนาการขึ้นๆ ลง (Fits and starts) กล่าวคือยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่คงดำเนินต่อไป ซึ่งจะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่จนกว่าจะบรรลุอายุ 20 ปีต้นๆ

และนี่เป็นการอธิบายว่า ทำไมวัยรุ่นจึงมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีความรับผิดชอบ? อาทิ ในบรรดาพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างไร้เหตุผล วัยรุ่นมีอัตราความเสี่ยงสูงเป็น 2 เท่าของผู้ใหญ่ที่จะติดเชื้อกามโรค (Venereal diseases : VD) เพราะมีเพียง 50% ของรุ่นที่คิดใช้ถุงยางอนามัย (Condom) [ในการมีเพศสัมพันธ์]

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Neural development - http://en.wikipedia.org/wiki/Neural_development t [2014, August 5].