จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 2
จิตวิทยาวัยรุ่น ตอนที่ 7 : หนุ่มวัยเจริญพันธุ์

จิตวิทยาวัยรุ่น

หนุ่มวัยรุ่นทุกคนต้องการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเต็มตัวในที่สุด ซึ่งหมายถึงการผ่าน “วัยเจริญพันธุ์” (Puberty) และประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ที่เกิดขึ้นระหว่างอายุ 10 ขวบถึง 14 ปี อันเป็นจุดเริ่มต้นของวัยเจริญพันธุ์ในเด็กหนุ่ม โดยที่อายุถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 12.5 ปี หรือประมาณ 2 ปี หลังสาววัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีจุดที่น่าสนใจ 3 ประการดังนี้

  1. วัยเจริญพันธุ์ ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางร่างกาย (Physical growth) โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของส่วนสูง ณ อายุประมาณ 13 - 14 ปี และหนุ่มวัยรุ่นอาจรู้สึกแปลกที่ค้นพบว่าเขาสูงกว่าแม่และสูงเท่าหรือสูงกว่าพ่อ
  2. วัยเจริญพันธุ์ เริ่มกระบวนการทางสรีรวิทยา (Physiological process) ซึ่งยังผลให้หนุ่มวัยรุ่นบรรลุความพร้อมทางเพศ (Sexual maturity) ซึ่งรวมทั้งอวัยวะเพศ (Genital organs) [กล่าวคือ ลูกอัณฑะ (Testicles) และองคชาต (Penis)] และการผลิตน้ำอสุจิ (Sperm)
  3. การผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดพัฒนาการลักษณะเฉพาะทางเพศในระดับรอง (Secondary sexual characteristics) ซึ่งได้แก่ขนที่ขึ้นบริเวณหัวหน่าว (Pubic hair) และใบหน้า พัฒนาการของกล้ามเนื้อ และเสียงที่ทุ้มแหลมขึ้น

ลักษณะเฉพาะทางเพศในระดับหลัก (Primary) ได้แก่อวัยวะเพศในระบบสืบพันธุ์ ส่วนจุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศ ถัวเฉลี่ย ณ อายุ 11.5 ปี (ระหว่างช่วงเวลา 9 ขวบ ถึง 16 ปี) และต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 3 ปี การผลิตและการปลดปล่อยน้ำอสุจิ เริ่มต้นระหว่างอายุ 12 ปี ถึง 14 ปี

การเจริญเติบโตของอวัยวะเพศ และการผลิตน้ำอสุจิ เกิดจาก Hypothalamus ซึ่งเป็นบริเวณสมองที่กระตุ้นต่อมสมอง (Pituitary gland) แล้วต่อมนี้ ก็จะก่อให้เกิดการผลิตฮอร์โมนเพศชายให้เพิ่มขึ้นถึง 18 เท่าของระดับฮอร์โมนก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนลักษณะเฉพาะทางเพศในระดับรอง เกิดขึ้นระหว่างอายุ 12 ปี ถึง 16 ปี แต่พัฒนาการต่างๆ ก็อาจแตกต่างกันไป

ผลการวิจัยแสดงว่า หนุ่มวัยรุ่นที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์เนิ่นๆ หรือมีความพร้อมทางเพศเร็วกว่าเพื่อน มักเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นสูง ผ่อนคลาย (Relax) มีความรับผิดชอบทางสังคม เป็นที่นิยมชมชอบ (Popular) ของเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน (Peer) เมื่อเปรียบเทียบกับหนุ่มวัยรุ่นที่เจริญพันธุ์ล่าช้ากว่าเพื่อน มักพบว่าเป็นผู้ที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ต่ำ พึ่งพาอาศัยพ่อแม่ และไม่ได้รับความชื่นชอบจากเพื่อนๆ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางจิตวิทยา สำหรับหนุ่มวัยรุ่นและสาววัยรุ่นที่บรรลุวัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าหรือช้ากว่าเพื่อน จะค่อยๆ ลดลงและหายไป เมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือหนุ่มวัยรุ่นมักมองเห็นว่า ร่างกายตนเองมีเสน่ห์ (Attractive) แต่สาววัยรุ่นไม่แน่ใจในเสน่ห์ร่างกายตนเอง และมักเปรียบเทียบกับสาววัยรุ่นอื่นๆ ในเรื่องนี้ตลอดเวลา

แต่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ เด็กหนุ่มและเด็กสาว มีความพร้อมทางเพศ ซึ่งเป็นสภาวะใหม่ของร่างกายที่จะนำไปสู่คำถามมากมายของ “วัยรุ่น” (Adolescent)

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth-Thompson Learning.
2. Sexual characteristics - http://en.wikipedia.org/wiki/Sexual_characteristics [2014, July 19].