จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 92 : ประสาทสัมผัส (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เคที่ (Katie) กำลังมองไปที่กระดานไฟฟ้า (Electric billboard) ซึ่งประกอบด้วย 36 จุด อันมีแสงสีฟ้า ม่วง แดง และเหลือง กระดานดังกล่าวมิได้อยู่หน้าร้านค้า หรือสนามกีฬา (Sports stadium) แต่มันอยู่ในหัวของเธอ เมื่อเธออายุได้ 22 ปี เธอสูญเสียการมองเห็น (Eyesight) เพราะเป็นต้อหิน (Glaucoma) เธอจึงมีชีวิตอยู่ในความมืดสนิท (Total darkness) ตลอด 20 ปี

เมื่อเธออายุได้ 42 ปี เธออาสาสมัคร (Volunteer) เป็น “หนูตะเภา” ในการผ่าตัดทดลอง (Experimental surgery) ซึ่ง “ฝัง” (Implant) ลวดทองจิ๋ว (Tiny) 36 เส้น เข้าไปในสมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) ตรงส่วนหลังของสมอง อันเป็นอาณาบริเวณที่ประมวลข้อมูลการมองเห็น (Visual)

เมื่อนักวิจัยกดปุ่มสวิทช์ กระแส (Current) ไฟฟ้าในปริมาณน้อยจนไม่เป็นอันตราย (Non-harmful) ต่อร่างกาย จะวิ่งผ่านเส้นลวดทอง แล้วกระตุ้น (Activate) เซลล์สมองของเธอ โดยที่ เคที่ รายงานว่า เธอได้เห็นไฟกระพริบ (Flash) ของแสงสี จากนั้น นักวิจัยปรับระดับกระแสไฟฟ้าให้แตกต่าง (Vary) ไปตามความสว่าง (Brightness) และขนาด ของแสงกระพริบจากจุดจิ๋วๆ ที่ขยายจนเท่ากับเหรียญ 5 เซ็นต์ (Nickel) สหรัฐ [ใกล้เคียงกับเหรียญ 2 บาทไทย แต่หนากว่าเล็กน้อย และใหญ่กว่าเล็กน้อย]

เนื่องจากลวดทองที่ “ฝัง” อยู่ในสมอง ก่อร่าง (Form) เป็นตะแกรงสีเหลี่ยมผืนผ้า (Rectangular grid) อันมี 36 จุด นักวิจัยสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นลวดบนตะแกรงเพื่อให้เกิดรูปแบบ (Pattern) ของจุดกระพริบ ตัวอย่างเช่น เมื่อไฟกระพริบ เคที่ รายงานผลว่า เธอเห็นเป็นตัวอักษร S บนกระดานไฟฟ้า

อย่าลืมว่า เคที่ เป็นคนตาบอด (Blind) อย่างเป็นทางการ (Officially) เนื่องจากสายตาเธอไม่ทำงาน (Function) มา 20 ปีแต่เธอก็ยังเห็นแสงกระพริบหลากหลายสี เมื่อบริเวณสายตา (Visual area) ของสมองของเธอ ถูกกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electronically stimulated) ข้อเท็จจริงนี้ ส่งผลให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า “เธอเห็นได้อย่างไรโดยไม่ใช้สายตามอง?”

เมื่อได้คำตอบต่อคำถามนี้ แล้วเราจะเข้าใจว่า ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง เป็นเครื่องมือบันทึก [ประสาทสัมผัส] ที่เล็กกว่า ซับซ้อนกว่า และดีกว่ากล้องถ่ายวีดิทัศน์ เครื่องบันทึกภาพ หรือจานดิจิทัล (Digital disk) ที่ใหม่เอี่ยมล่าสุดเสียอีก โดยย่นย่อโลกให้เล็กจิ๋ว (Minimized) และใช้เทคโนโลยีทันสมัยสุดยอด

ประสาทสัมผัสหลักของมนุษย์มี 6 อย่าง ได้แก่ การมองเห็น (Vision) การได้ยิน (Hearing) การสมดุล (Balance) การลิ้มรส (Taste) การดมกลิ่น (Olfaction) และการสัมผัส (Touch) อันที่จริง ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง เป็นอวัยวะประสาทสัมผัส (Sense organ) ที่ซับซ้อนของสิ่งมีชีวิต อันรวบรวมข้อมูลอย่างอัตโนมัติ ซึ่งเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Sense - https://en.wikipedia.org/wiki/Sense [2016, January 14].