จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 9 : การเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพ

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เมื่อ มิก แจ็กเก้อร์ (Mick Jagger) นักร้องนำชาวอเมริกัน ของวงดนตรี โรลลิ่ง สโตน (Rolling Stone) มีอายุ 20 ปีเศษ เขาเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันยอมตายดีกว่า ยังร้องเพลงฮิต Satisfaction อยู่เมื่ออายุ 45 ปี”

แต่ขณะที่เขาอายุ 50 ปี เขามีทีท่าที่เปลี่ยนไป เขาและวงดนตรี Rolling Stones ของเขาได้เสร็จสิ้นการเดินทางไปแสดงดนตรีทั่วโลก พร้อมด้วยเพลงยอดนิยม Satisfaction อยู่ [ปีนี้เขาอายุ 70 ปีแล้ว และกำลังจะออกทัวร์ใหม่อีกแล้ว]

ตามที่ มิก แจ็กเก้อร์ ค้นพบด้วยตัวเอง สิ่งที่คนเราพูดและทำเมื่ออายุ 20 ปี อาจจะดูโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อายุ 50 ปี ความแตกต่างในความคิดของ มิก แจ็กเก้อร์ ระหว่างช่วงเวลา 30 ปี นำมาซึ่งคำถามที่น่าสนใจว่า บุคลิกภาพของคนเรา เปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน? แล้วที่ยังคงเหมือนเดิมล่ะ มีมากน้อยเพียงใด?

นักวิจัยตอบคำถามนี้ด้วยการศึกษาข้ามเวลา (Longitudinal) ซึ่งวัดผล (Measure) พัฒนาการบุคลิกภาพของกลุ่มคนเดียวกันในช่วงระยะเวลายาว งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า จากช่วงวัยรุ่น สู่ผู้ใหญ่วัยกลาง คนเราเริ่มมีความไว้วางใจ (Trust) และความใกล้ชิด (Intimacy) นอกจากนี้ยังพัฒนาความรู้สึกควบคุม (Sense of control) ได้มากขึ้น

งานวิจัยยังพบว่า การมีบุคลิกภาพบางอย่าง ในผู้ใหญ่วัยต้น (Young adulthood) นำไปสู่พัฒนาการอุปนิสัยที่สัมพันธ์กันในช่วงผู้ใหญ่วัยกลาง (Middle adulthood) (อายุ 40 ปี) ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีระดับอัตลักษณ์ (Level of identity) สูง ในช่วงอายุ 20 ปี จะแสดงความเป็นอิสระ (Independence) ความอบอุ่น และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) ในเวลาต่อมา อาทิ ช่วงกลางอายุ 40 ปี

จากการศึกษาข้ามเวลาที่ยาวนานเหล่านี้ นักวิจัยสรุปความเห็นได้ว่า

  1. จากช่วงเวลา ณ สิ้นสุดวัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่วัยกลาง การเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพหรืออุปนิสัย ยังคงดำเนินอยู่แต่ไม่หวือหวามาก โดยมีความไว้วางใจและใกล้ชิดมากขึ้น
  2. การมีบุคลิกภาพบางอย่างในช่วงผู้ใหญ่วัยต้น เป็นรากฐาน (Foundation) สำคัญ ของพัฒนาการที่สัมพันธ์กับอุปนิสัย ในเวลาต่อมา
  3. ผู้ใหญ่ผ่านพ้นขั้นตอนทางจิต-สังคม (Psycho-social) และเผชิญกับความขัดแย้งในพัฒนาการของบุคลิกภาพ ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งที่นำเสนอโดย เอริค เอริคสัน (Erik Erikson) ผู้ซึ่งกล่าวว่า

ช่วงเวลาระหว่างอายุ 20 – 40 ปี เป็นผู้ใหญ่วัยต้นที่แสวงหาความใกล้ชิด โดยพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งด้วยความรัก ในด้านบวก เราสามารถพบความสัมพันธ์ที่ห่วงใย (Caring relationship) แต่ในด้านลบ ซึ่งปราศจากความใกล้ชิด เราจะรู้สึกเจ็บปวดจากการแยกอยู่อย่างสันโดษ (Isolation)

ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงสำคัญของบุคลิกภาพ ก็คือ ผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิง ต้องเปลี่ยนผ่านในชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเพศ (Gender role) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของกลุ่ม (Set) พฤติกรรมและการรับรู้ ที่หนุ่ม และสาววัยรุ่นแสวงหา เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ชายและหญิง ตามลำดับ

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Personality - http://en.wikipedia.org/wiki/Personality [2015, June 13].