จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 6 : ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ในการวิจัยหนึ่ง ผู้ใหญ่วัยต้น ถูกตั้งคำถามว่า เขาเป็นผู้ใหญ่ “แล้วหรือยัง”? คำตอบว่า “แล้ว” จะค่อยๆ สูงขึ้นจากเกือบ 20% ในช่วงอายุ 12 – 17 ปี ไปจนถึง 90% ในช่วงอายุ 36 – 55 ปี ส่วนผู้ที่ตอบ “ยัง” จะค่อยๆ ลดจากเกือบ 40% ในช่วงอายุ 12 – 17 ปี ลงเหลือเกือบ 0 % ในช่วงอายุ 36 – 55 ปี อย่างไรก็ตาม “ผู้ใหญ่วัยเริ่ม” (Emerging adult) ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 ปี กับ 25 ปี เกือบ 60% ตอบทั้ง “แล้ว และ ยัง”

ในบางมุมมอง “ผู้ใหญ่วัยเริ่ม” ได้เคลื่อนย้ายจากวัยรุ่น (Adolescence) ไปสู่ “ผู้ใหญ่วัยเต็มที่” (Maturity) โดยสามารถควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น และลดความโกรธและความแปลกแยก (Alienated) ลง แต่ก็มักเป็นกลุ่มที่มีชีวิตอยู่อย่างไรเสถียรภาพ รู้สึกว่าถูกถอนรากถอนโคน (Un-rooted) และต้องเสี่ยงภัย

“ผู้ใหญ่วัยเริ่ม” มักเคลื่อนย้ายมากกว่ากลุ่มอื่น อาจกลับไปอยู่กับพ่อแม่ หรือย้ายออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น อาจมีเพื่อนร่วมห้อง (Roommate) หรือย้ายไปอยู่คนเดียว แต่อัตราสูงกว่ากลุ่มอื่น (รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่น) ในเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ การมั่วสุมดื่มเหล้ามากเกินไป (Binge) การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน หรือการขับรถด้วยความเร็วสูงขณะมึนเมา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนในกลุ่มจะประพฤติตนเหมือนกัน กลุ่มคนในสังคมที่ใหญ่ขึ้นเช่นในสหรัฐเมิรกา กลุ่มมอร์มอน (Mormon) ส่งเสริมการแต่งงานและการเป็นพ่อแม่ (Parenthood) ที่เร็วขึ้น ส่วนกลุ่ม “ผู้ใหญ่วัยเริ่ม” ที่ยากจน ซึ่งออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร (Drop-out) แม่วัยรุ่น [มีลูกเมื่ออายุ 16 ปี] หรือผู้ด้อยโอกาสในการได้งานทำ มักไม่มีทางเลือกมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ทุกประเทศอุตสาหกรรมกำลังเคลื่อนย้ายไปสู่เศรษฐกิจโลก (Global economy) เพิ่มพูนการศึกษา และชะลอการตัดสินใจในเรื่องงานการและการมีครอบครัว ดังนั้น กลุ่ม “ผู้ใหญ่วัยเริ่ม” มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น และมีความสำคัญมากขึ้น ในขั้นตอนที่เด่นชัด (Distinct phase) ของการสำรวจความต้องการและอิสรภาพของชีวิตที่ยาวนาน (Prolong)

สำหรับผู้ใหญ่ “วัยกลางคน” (Middle years) ที่มีอายุระหว่าง 35 ปี ถึง 65 ปี นับเป็นช่วงสำคัญ (Prime) ของชีวิต เพราะมักจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในทางจิตวิทยา สุขภาพที่ดี ผลิตภาพ (Productivity) การมีส่วนร่วมในชุมชน และการเกิดภาวะวิกฤตที่ไม่เกี่ยวกับอายุ แต่เป็นเหตุการณ์เฉพาะของชีวิต อาทิ การเจ็บป่วย การสูญเสียคู่ครอง หรือการตกงาน

ในช่วงอายุระหว่าง 45 ปี ถึง 55 ปี สตรีต้องเผชิญกับ “วัยหมดประจำเดือน” (Menopause) หลังจากที่ไข่หยุดการผลิตสารเอ็สโตรเจน (Estrogen) และสารโปรเจ็สเตอโรน (Progesterone) แต่ก็ก่อให้เกิดกลุ่มอาการ (Symptoms) ต่างๆ ในสตรีจำนวนมาก อาทิ รู้สึกวูบวาบ (Hot flash) น่ารำคาญ (Irritable)) และไร้เหตุผล (Irrational)

สาเหตุเกิดจากระบบหลอดเลือด (Vascular system) (ซึ่งปรับตัวไปตามสารเอ็สโตรเจน) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม สตรีที่ประสบอาการทางร่างกายอย่างรุนแรง (Severe) มีเพียง 10% เท่านั้น

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Menopause - http://en.wikipedia.org/wiki/Menopause [2015, May 23].