จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 59 : การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมอง (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

งานของโรเบิร์ต (Robert) ในฐานะช่างเสาไฟคือการปีนขึ้นไปบนเสาไฟฟ้าเพื่อซ่อมไฟ ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งเขาเริ่มสังเกตว่ามือของเขาสั่นและแข็งทื่อ (Rigid) โดยไม่ทราบเหตุผล การสั่นสะเทือน (Tremor) ในแขนของเลวร้ายลง จนกระทั่งเขาไม่สามารถจับถือเครื่องมืออีกต่อไป กล่าวคือ อาการของเขาบังคับให้เขาต้องหยุดทำงานไปเลย

การสั่นสะเทือน เลวร้ายถึงขั้นที่เขารู้สึกละอาย (Embarrassed) ที่ต้องไปปรากฏตัวในสถานที่สาธารณะ โดยเดินเหินด้วยความลำบาก เนื่องจากขาของเขาแข็งทื่อขึ้น (Stiff) ทันทีทันใดจนไม่สามารถเคลื่อนไหว ราวกับว่าเขาถูกแช่แข็งไว้ในอวกาศ เขามีอาการทั้งหมดของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)

อาการของโรคดังกล่าว ได้แก่การสั่นสะเทือนในแขนขา (Limb) การเคลื่อนไหวอย่างอิสระ (Voluntary movement) ได้ช้าลง และความรู้สึกซึมเศร้า (Depression) เมื่อโรคเริ่มกำเริบ (Progress) ผู้ป่วยจะเดินลากขา งุ่มง่าม และอุ้ยอ้าย (Shuffle) อันแปลกประหลาด (Peculiar) ราวกับว่าถูกแช่แข็งไว้ในอวกาศชั่วขณะ ซึ่งอาจเป็นหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงในแต่ละครั้ง

โรคนี้มีสาเหตุจากการทำลายเซลล์ประสาท ที่ผลิตสารสื่อประสาท (Neuro-transmitter) ชื่อ “โดปามีน” (Dopamine) โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับยา (Medication) ที่ชื่อ “แอล-โดปา” (L-dopa) ซึ่งทำให้ระดับสารโดปามีนสูงขึ้นในสมอง แต่ผู้ป่วยต้องกินยาแอล-โดปา ในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตัวยาเองเป็นสาเหตุให้การเคลื่อนไหวอย่างอิสระต้องกระตุก (Jerky) ไปด้วย ซึ่งอาจเลวร้ายพอๆ กับอาการที่เกิดจากโรคพาร์กินสัน

ดังนั้น ยาแอล-โดปา จึงควบคุม (Control) แต่ไม่ได้รักษา (Cure) อาการของโรคพาร์กินสัน และหลังการใช้ยาเป็นเวลานาน (Prolonged use) ผลกระทบที่มีคุณประโยชน์ (Beneficial effect) อาจถูกทดแทนด้วยการเคลื่อนไหวอย่างอิสระที่ไม่ต้องการ กล่าวคือ อาการกระตุก

อย่างไรก็ตาม แม้จะกินยา “แอล-โดปา” อาการของโรเบิร์ต กลับเลวร้ายลง เขาได้ยินเกี่ยวกับการบำบัดรักษาแบบทดลองปลูกถ่าย (Transplant) เนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ (Fetal brain tissue) ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ประสาท (Neuron) ที่ปลูกถ่าย เข้าไปในบริเวณของสมองที่เรียกว่า “เบซัลแกงเกลีย” (Basal ganglia)

เบซัลแกงเกลีย เป็นกลุ่มโครงสร้างที่มีตำแหน่งอยู่ ณ ศูนย์กลางสมอง อันเกี่ยวข้องกับการควบคุม (Regulate) การเคลื่อนไหว เพื่อการทำงานที่เหมาะสม (Properly) เซลล์ประสาทในเบซัลแกงเกลีย จะต้องมีสารสื่อประสาทโดปามีนเพียงพอที่จะกระจายไปทั่วสมอง

ในกรณีของโรเบิร์ต สารสื่อประสาท โดปามีนของเซลล์ประสาทในเบซัลแกงเกลียเริ่มร่อยหรอไป หลังจากโรเบิร์ตไปถึง “จุดที่ไกลสุดกู่” (Point of no turn) เขาจึงต้องยอมเข้ารับการรักษาแบบทดลองปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Fetal tissue implant - https://en.wikipedia.org/wiki/Fetal_tissue_implant [2016, May 28].