จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 54 : ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เมื่อเราสัมผัสวัตถุแหลมคม เราจะถอนมือโดยอัตโนมัติ (Automatically withdraw) เนื่องจากปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Reflex) ที่เชื่อมโยงล่วงหน้าเหมือนสายไฟฟ้า (Pre-wired) เซลล์ประสาท (Neuron) นำข้อมูลความเจ็บปวด (Pain information) ไปยังไขสันหลัง (Spinal cord) แล้วเชื่อมโยงกับเซลล์ประสาทอื่นๆ ภายใน ที่นำข้อมูลไปยังสมอง รวมทั้งเซลล์ประสาทที่นำข้อมูลดังกล่าวออกจากไขสันหลังไปยังกล้ามเนื้อหรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

ในทำนองเดียวกัน เหตุผลหลักที่เราถอนมือโดยอัตโนมัติ เมื่อสัมผัสกับวัตถุร้อน, หันศีรษะไปยังทิศทางที่มีเสียงดัง หรืออาเจียน (Vomit) หลังจากรับประทานอาหารเป็นพิษ (Tainted food) เป็นเรื่องของความอยู่รอด (Survival) ปฏิกิริยาสะท้อนกลับนี้ได้วิวัฒนามาเป็นเวลานับล้านๆ ปีแล้ว

ปฏิกิริยาดังกล่าวได้ปกป้องส่วนต่างๆ ของร่างกายจากการบาดเจ็บ (Injury) และอันตราย (Harm) ตลอดจนควบคุม (Regulate) การสนองตอบทางสรีรวิทยา (Physiological response) อย่างอัตโนมัติ อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate) การที่มีเหงื่อออก (Respiration) และความดันโลหิต (Blood pressure)

ปฏิกิริยาสะท้อนกลับตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ (Primitive) ได้แก่ อาการขนลุก (Piloerection) ซึ่งคือต้นเหตุของขนบนแขนชูตั้งขึ้น เมื่อเรารู้สึกหนาว อาการขนลุกนี้ช่วยทำให้ขนฟูฟ่อง (Fluff) เพื่อเป็นฉนวนที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่ในปัจจุบัน ปฏิกิริยานี้ไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เพราะเสื้อผ้าอาภรณ์สามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่า

ในช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษ 1900s อีวาน พา ฟล็อฟ (Ivan Pavlov) ซึ่งเป็นแพทย์และนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สำหรับการศึกษาเรื่องปฏิกิริยาสะท้อนกลับในการย่อยอาหาร (Digestion) เขาค้นพบสิ่งที่น่าสนใจในห้องทดลอง (Laboratory) ของเขา

เมื่อป้อนอาหารเข้าปากสุนัขครั้งแรก (โดยฝึกสุนัขให้ยืนนิ่งอยู่ในที่ตรึงในห้องทดลอง แล้วที่ข้างแก้มของสุนัขติดเครื่องมือวัดระดับการไหลของน้ำลาย) เขาพบว่าอาหารจะกระตุ้น (Trigger) ปฏิกิริยาสะท้อนกลับของภาวะการหลั่งน้ำลายมาก (Salivation) ในสุนัข แต่เมื่อเขามีโอกาสป้อนอาหารเข้าปากสุนัขมากขึ้นเรื่อยๆ สุนัขก็เรียนรู้ที่จะหลั่งน้ำลายก็ต่อเมื่อเห็นอาหารเท่านั้น ในตอนแรกเขารู้สึกรำคาญใจในการคาดหวัง (Anticipation) ของสุนัข แต่ก็เริ่มเข้าใจการเรียนรู้ของมัน

ต่อมาเขาทดลองสั่นกระดิ่งก่อนป้อนอาหารเข้าปากสุนัข หลังจากทดลองหลายๆ ครั้งในการสั่นกระดิ่งพร้อมอาหาร สุนัขก็เริ่มแสดงภาวะหลั่งน้ำลายมากทุกครั้งได้ยินเสียงกระดิ่ง อีวาน พา ฟล็อฟ เรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า “ปฏิกิริยาสะท้อนสะท้อนกลับอย่างมีเงื่อนไข” (Conditioned reflex) นับเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญมาก เพราะทำให้นักวิจัยสามารถเรียนรู้ในหนทางที่สังเกตได้อย่างไม่ลำเอียง (Observable and objective)

ปัจจุบัน นักวิจัยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เงื่อนไขแบบดั้งเดิม” (Classical conditioning) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของการเรียนรู้โดยที่สิ่งเร้าทางประสาท (Neural stimulus) แสวงหาความสามารถในการผลิต (Produce) การสนองตอบ ซึ่งเดิมเป็นสิ่งเร้าที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการสนองตอบได้

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Reflex - https://en.wikipedia.org/wiki/Reflex [2015, April 23].