จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 5 : ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เมื่อหลายปีก่อน นักจิตวิทยาที่ชาญฉลาดคนหนึ่งสังเกตว่า “ไม่มีกระบวนการเดียวของการเสื่อมอายุ จึงไม่มีเส้นทางชีวิต (Life course) เดียว แต่มีหลากหลายมากมายพอๆ กับจำนวนสภาวะทางประวัติศาสตร์ (Historical conditions) ที่ผู้คนเคยเผชิญหน้า และสถานการณ์ (Circumstances) ปัจจุบันที่เขาเคยพบเห็น”

เหตุการณ์บางอย่าง มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในบางช่วงเวลาเฉพาะของชีวิต อาทิ การเข้าโรงเรียน การเรียนขับรถ การมีลูก และการเกษียณจากงาน ในทุกสังคม ผู้คนอาศัย “นาฬิกาสังคม” (Social clock) เพื่อกำหนดว่า เขาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต (Transition of life) ที่เหมาะสมหรือไม่?

“นาฬิกาสังคม” ประกอบด้วยเกณฑ์ปรกติ (Norm) ที่ครอบงำสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ในวัยเดียวกัน และชั่วอายุคนในอดีต (Historical generation) ได้รับการคาดหวังให้พึงกระทำ วัฒนธรรมมี “นาฬิกาสังคม” ที่แตกต่างกัน ในบางวัฒนธรรม หนุ่มสาวได้รับการคาดหวังให้แต่งงานกันและมีลูกทันทีในวัยเจริญพันธุ์ (Puberty) ส่วนความรับผิดชอบในงานการมาทีหลัง [ในลำดับความสำคัญ]

ในวัฒนธรรมอื่น ผู้ชายอาจไม่แต่งงาน จนกว่าเขาได้แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ซึ่งอาจเป็นไปไม่ได้จนกว่าจะอายุถึง 30 ปีขึ้นไป แต่ในทุกวัฒนธรรม การทำสิ่งที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่ถูกต้อง เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนฝูง ถือว่าเป็นเกณฑ์ปรกติ

เมื่อเกือบทุกคนที่มีอายุไล่เลี่ยกันผ่านประสบการณ์เดียวกันหรือเข้าสู่บทบาทใหม่ในช่วงเวลาเดียวกัน การปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต (Transition of life) ก็เป็นสิ่งที่ง่ายดาย ในทางกลับกัน การไม่ทำในสิ่งที่ผู้อื่นก็ไม่ทำ จะสร้างความรู้สึกว่า ตนเองก็ไม่ได้ “ผ่าเหล่า ผ่ากอ”

ในสังคมสมัยใหม่ทุกวันนี้ “นาฬิกาสังคม” (Social clock) ไม่ได้บอกเวลาในวิถีทางอย่างอดีต ผู้คนส่วนมากจะเผชิญหน้ากับช่วงเปลี่ยนผ่านที่มิได้คาดการณ์มาก่อน (Unanticipated) กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการเตือน อาทิ ถูกปลดออกจากงาน เนื่องจากการลดขนาดขององค์กร (Down-sizing)

และผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องรับมือกับช่วงที่มิได้มีการเปลี่ยนผ่าน (Non-transition) กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น แล้วมิได้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อถึงวัยที่คาดหมายกัน ก็ไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้รับการเลื่อนขั้น ไม่สามารถเกษียณได้ หรือไม่สามารถมีลูกได้

ในประเทศอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงทางประชากร (Demographics) ได้เลื่อนเวลาออกไป ของการตัดสินใจเรื่องการงาน การแต่งงานหรือการอยู่ร่วมกินกัน (Co-habitation) และการเป็นพ่อแม่ (Parenthood) จนกว่าอายุเกือบ 30 ปี โดยเฉลี่ย หนุ่มสาวจำนวนมากที่มีอายุระหว่าง 18 ปี ถึง 25 ปี จะยังคงเรียนหนังสืออยู่ในระดับอุดมศึกษา และบางคนยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ในเรื่องการเงิน ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ก่อให้เกิดช่วงหนึ่งของชีวิตที่บางคนเรียกว่า “ผู้ใหญ่วัยเริ่ม” (Emerging adulthood) ในการวิจัยหนึ่ง ผู้ใหญ่วัยนี้ ถูกตั้งคำถามว่า เขาเป็นผู้ใหญ่ “แล้วหรือยัง”?

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Adult - http://en.wikipedia.org/wiki/Adult [2015, May 16].