จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 49 : การส่งข้อมูล (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

“สภาวะพัก” (Resting state) หมายความว่า “แกนประสาทนำออก” (Axon) มีประจุไฟฟ้า (Electric charge) หรือ “กระแสประสาท” (Action potential) เหมือนแบตเตอรี่ อันเป็นผลจากการที่เนื้อเยื่อ (Membrane) แกนประสาทนำออกได้แยก “ละอองขั้วบวก” (Positive ion) ที่อยู่ข้างนอก ออกจาก “ละอองขั้วลบ” (Negative ion) ที่อยู่ข้างใน

ในสภาวะพักนั้น โครงสร้างขยายส่วนที่เป็น “ปลอกเซลล์” (Myelin sheath) ซึ่งปรกติจะเป็นฉนวน (Insulate) ป้องกัน แกนประสาทนำออก จะหยุดทำงาน (Break) ทำให้ประตูแกนประสาทนำออก และกระแสประสาทเริ่มทำงานแทนที่

เมื่อ “ชีพจรประสาท” (Nerve impulse) เคลื่อนย้ายถึงจุดหมายปลายทาง กระแสประสาทสุดท้ายจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างขยายที่เป็น “ปลายหลอด” (End bulb) ซึ่งเป็นฟองอากาศเล็กๆ อยู่ที่ปลายแกนประสาทนำออก

กระแสประสาทสุดท้ายนี้ กระตุ้น (Trigger) ให้ปลายหลอด ปลดปล่อย (Release) สารเคมีที่ใช้ในการสื่อสารกับเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง [หรือ "สารสื่อประสาท” (Neuro-transmitter)] ไปทั่ว “จุดประสานประสาท” (Synapse) ซึ่งทำงานเหมือนสวิทช์ เปิด-ปิด เซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง

สารสื่อประสาทจะทำหน้าที่กระตุ้น (Excite) หรือ ขัดขวาง (Inhibit) การทำงานของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง (อาทิ หัวใจ) กล้ามเนื้อ (อาทิ ศีรษะ) หรือ “องคาพยพเซลล์” (Cell body) ดังนั้น สารสื่อประสาทจึงมีความสำคัญยิ่งในการสื่อสารกับอวัยวะ กล้ามเนื้อ และเซลล์ประสาท (Neuron) อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

สารสื่อประสาท เป็นผู้นำส่งข่าวสารทางเคมี (Chemical messenger) ทำหน้าที่ส่งข้อมูล (Information) ระหว่าง ประสาท และอวัยวะร่างกาย อาทิ กล้ามเนื้อและหัวใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการคิด การตัดสินใจ การพูด และการโกรธ ล้วนเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท

เราจะรู้สึกว่า หัวใจของเราเต้น (Pound) เร็วขึ้น เมื่อเรารู้สึกกลัว เครียด หรือโกรธ เหตุผลหนึ่งของปฏิกิริยาดังกล่าว ก็คือสารสื่อประสาท ลองจินตนาการดูว่า หากเราเห็นขโมยรถใหม่ป้ายแดงเรา เข้าไปในรถแล้วขับหนีไป เราคงจะโกรธ และหัวใจของเราก็จะเต้นเร็วขึ้น

อะไรอยู่เบื้องหลังความโกรธที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจของเราจากปรกติ ระหว่าง 60 ถึง 70 ครั้ง (Beat) ต่อนาที กระโดดขึ้นเกินกว่า 180 ครั้งต่อนาที? คำตอบอยู่ที่ ปลายแกนประสาทนำออกซึ่งมีกิ่งก้าน (Branch) อยู่หลายสาขา และปลายสาขาจะขยาย (Enlarge) โครงสร้างออกเป็นปลายหลอดที่บรรจุสารสื่อประสาท

เมื่อกระแสประสาทกระทบปลายหลอด จะเกิดการระเบิดขนาดย่นย่อ (Miniature explosion) และสารสื่อประสาทจะถูกดีดออก (Eject) สู่ภายนอก ข้ามช่องว่างเล็กๆ ที่เป็น “จุดประสานประสาท” (Synapse) ไปยังกล้ามเนื้อใจที่อยู่ใกล้เคียง ลองคิดถึงสารสื่อประสาทเหมือนกุญแจทางเคมีที่ไขกลอนทางเคมี (Chemical lock) บนพื้นผิวของกล้ามเนื้อหัวใจ ตามปรกติปลายหลอดจะเก็บสารสื่อประสาทที่กระตุ้น (Excitatory) หรือขัดขวาง (Inhibitory) กลอนทางเคมีดังกล่าว

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Nerve - https://en.wikipedia.org/wiki/Nerve [2015, March 19].