จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 207: พฤติกรรมภายใต้การสะกดจิต (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-207

      

      เราคงเคยเห็นผู้คนทำตัวแปลกๆ อาทิ แกล้ง (Pretend) ทำตัวเป็นไก่ หลังจากถูกสะกดจิต (Hypnotized) แต่พึงสำเหนียกว่า พฤติกรรมแบบเดียวกัน ก็สามารถแสดง (Perform) โดยผู้คนที่มิได้ถูกสะกดจิตเลย ดังนั้น คนเรามีความสามารถในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่แปลกประหลาดหรือผิดปรกติ ไม่ว่าเขาจะถูกสะกดจิตหรือไม่

      เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า การสะกดจิตสามารถลดความเจ็บปวดได้ (Hypnotic analgesia) ซึ่งหมายถึง การลดความเจ็บปวดที่รายงานโดยผู้ป่วย หลังจากที่ได้รับคำสั่ง (ระหว่างถูกสะกดจิต) ให้ลดความวิตก (Anxiety) และกระตุ้นการผ่อนคลาย (Promoted relaxation)

      นักวิจัยใช้เครื่องมือตรวจหา (Scan) การกระจายและปริมาณความผิดปกติของสารเภสัช รังสีโพสิตรอน (Positron Emission Tomography : PET) เพื่อแสดงว่า การสะกดจิตสามารถลดความรู้สึกไม่น่ารื่นรมย์ (Unpleasant) จากความเจ็บปวดได้ แม้จะไม่รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก (Sensation) ของความเจ็บปวด

      ผู้เข้ารับการทดลอง (Subject) สามารถเอามือจุ่มลงไปในน้ำร้อนที่ตามปรกติจะรู้สึกเจ็บปวด แต่ภายใต้การสะกดจิต เขาจะรายงานว่า รู้สึกไม่น่ารื่นรมย์มากกว่าหรือน้อยกว่าปรกติ ขึ้นอยู่กับคำสั่งที่ได้รับระหว่างถูกสะกดจิต อย่างไรก็ตาม การสะกดจิต ก็ได้พิสูจน์คุณประโยชน์ในการช่วยผู้ป่วยรับมือกับการรักษาความเจ็บปวดทางการแพทย์หรือทันตกรรม (Dental)

      ผู้เข้ารับการทดลอง แสดงพฤติกรรมตามคำสั่ง (Cue) หลังจากถูกสะกดจิต (Post-hypnotic) กล่าวคือ เป็นพฤติกรรมเฉพาะ (Particular behavior) ที่ดำเนินการโดยอัตโนมัติ (Automatic) ในการสนองตอบต่อคำสั่งที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (Pre-determined) อาทิ ยิ้มเมื่อได้ยินคำว่า “นักเรียน”

      อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ผู้เข้ารับการทดลองจะปฏิบัติตามคำสั่งโดยอัตโนมัติ ถ้าเขาเชื่อว่าเขาถูกคาดหวังให้ดำเนินการเช่นนั้น แต่จะหยุดแสดงพฤติกรรมดังกล่าว ถ้าเขาเชื่อว่าการทดลอง (Experiment) ได้สิ้นสุดลงแล้ว หรือไม่ถูกสังเกต (Observed) เหตุการณ์อีกต่อไป

      “เมื่อคุณตื่นขึ้นมา คุณจะจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้” นี่เป็นคำสั่งที่ใช้ให้เกิดสถานการณ์หลังตื่นภวังค์ (Post-hypnotic amnesia)คำอธิบายหนึ่งก็คือ ผู้คนลืมเพราะประสบการณ์ถูกระงับ (Repress) และไม่มีอยู่ในครองสติตามปรกติ อย่างไรก็ตาม มีประจักษ์หลักฐานอย่างดีว่า หลังจากตื่นภวังค์จาการถูกสะกดจิต สิ่งที่ผู้ถูกสะกดจิตจดจำได้หรือลืมไป ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาคิดหรือเชื่อว่า ผู้สะกดจิตต้องการให้เขาจดจำหรือลืมไป

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Hypnosis - https://en.wikipedia.org/wiki/Hypnosis [2019, March 31].