จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 206: ทฤษฎีการสะกดจิต (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-206

      

      เมื่อนักสะกดจิตขอให้เรา เอาแขนจุ่มอย่างรวดเร็ว (Plunge) ลงในน้ำที่แข็งเยือก เราจะรู้สึกเจ็บปวด (Painful) แต่ไม่บาดเจ็บ (Injury) พร้อมคำแนะนำว่าเราจะไม่รู้สึกเจ็บปวด เมื่อถูกถามว่า “เรารู้สึกเจ็บปวดไหม?” ส่วนที่ถูกควบคุมด้วยการสะกดจิต จะตอบว่า “ไม่” แต่นิ้วที่ไม่ถูกควบคุมด้วยการสะกดจิต (ซึ่งซ่อนเร้นอยู่) จะเคาะ 1 ครั้ง

      การค้นพบจากการทดลองนี้ สนับสนุนความคิดที่ว่า การมีสติ (Consciousness) ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งของสภาวะดัดแปลง (Altered state) คือการมีสติเอง ซึ่งตอบคำถามทางวาจาและดูเหมือนจะอยู่ในการควบคุม อีกส่วนหนึ่งเป็นสภาวะมีสติไม่รับรู้เลย โดยเป็นผู้สังเกตการณ์ที่อำพรางอยู่ และสามารถตอบคำถามในหนทางที่ไม่ใช้วาจา อาทิ โดยการเคาะนิ้ว

      แต่ความคิดที่การสะกดจิตสร้างสภาวะการดัดแปลง ได้ถูกท้าทายโดยอีกทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า “ทฤษฎีการรับรู้ทางสังคมของการสะกดจิต” (Socio-cognitive theory of hypnosis) ซึ่งกล่าวว่า ผลกระทบที่ประทับจิต (Impressive effect) ของการสะกดจิตเกิดจากอิทธิพล (Influence) และแรงกดดัน (Pressure) ทางสังคม และความสามารถส่วนบุคคล ของผู้เข้ารับการวิจัย (Subject) ผู้สนับสนุนทฤษฎี ณ อีกปลายสุดหนึ่งของสภาวะต่อเนื่อง คือนักจิตวิทยาชื่อ เออร์วิง เคิร์ช (Irving Kirsch)

      เขาได้ตีพิมพ์บทความกว่า 75 เรื่องในด้านการสะกดจิต โดยปฏิเสธทฤษฎีสภาวะการดัดแปลงของการสะกดจิต ด้วยเหตุผล 3 ประการ โดยในประการแรก หลังจาก 40 ปีของการวิจัย ไม่ปรากฏมาตรวัดทางพฤติกรรม (Behavioral) ทางสรีรวิทยา (Physiological) หรือทางประสาทวิทยา (Neurological) ที่แยกการสะกดจิต ออกจากสภาวะอื่นของการมีสติ

      ประการที่ 2 ทุกปรากฏการณ์ (Phenomenon) ที่สร้างขึ้นโดยการสั่งหรือแนะนำระหว่างการสะกดจิต อาทิ กลับไปยังสภาวะที่อ่อนเยาว์ หรือจินตนาการในหนทางที่แปลกประหลาด สามารถสร้างขึ้นโดยผู้เข้ารับการทดลองที่ไม่ถูกสะกดจิต ประการที่ 3 การเพิ่มคำแนะนำระหว่างสะกดจิตสามารถทดสอบซ้ำ และทดแทนด้วยยาหลอก (Placebo) และการฝึกอบรมด้านจินตนาการ

      เขาสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการสะกดจิต มิใช่เป็นเพราะการสะกดจิตมีอำนาจหรือพลังบางอย่างที่จะทำให้ผู้เข้ารับการทดลองเข้าสู่สภาวะดัดแปลงของการมีสติ แต่เป็นสิ่งที่ผู้เข้ารับการทดลองกระทำต่อตนเอง ความเชื่อ จินตนาการ ความไว้วางใจ ความคาดหวัง และความเต็มใจทำตามคำแนะนำของผู้สะกดจิต

      กรณีของพอล (Paul) ที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ ว่าการที่เขาขึ้นไปบนเวที ต่อหน้าสาธารณชน แล้วเลียนแบบการเล่นกีต้าหมุนรอบ (Gyration) ของเอลวิส เพร็สลี่ (Elvis Presley) สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีแรกว่า เขาอยู่ในสภาวะการดัดแปลงของการมีสติ เสมือนมึนงง (Trance) หรือทฤษฎีหลังที่รับรู้ทางสังคมว่า เขาได้รับแรงกดดันจากผู้เข้าชมอื่นๆ ยุยงให้เขาขึ้นแสดงบนเวที

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Hypnosis - https://en.wikipedia.org/wiki/Hypnosis [2019, March 23].
  3. Irving Kirsch - https://en.wikipedia.org/wiki/Irving_Kirsch [2019, March 23].