จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 16 : ความสัมพันธ์ระยะยาว (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

การวิจัยครั้งหนึ่งแสดงถึง คู่สมรสให้คะแนนความพึงพอใจ (Satisfaction) ในชีวิตคู่หลังแต่งงาน จากคะแนนเต็ม 7 พบว่า ภรรยามีความถึงพอใจที่ลดจาก 6.35 ลงมาเรื่อยๆ จนถึงจุดต่ำสุดที่ 5.85 เมื่อลูกอยู่ในวัยรุ่น (Adolescent) แล้วจะวกกลับขึ้นไปใหม่เรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่ 6.15 เมื่อลูกโต แล้วแยกย้ายไปสร้างครอบครัวใหม่ และตนเองต้องอยู่ตามลำพังกับสามี (Empty nest)

ส่วนสามีมีความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นจาก 5.85 จนถึง 6.15 เมื่อมีลูกก่อนวัยเข้าเรียน (Pre-school) หลังจากนั้น คะแนนจะเริ่มตกลงเรื่อยๆ จนถึงจุดต่ำสุดที่ 5.75 เมื่อลูกอยู่ในวัยรุ่น แล้วจะวกกลับขึ้นไปใหม่เรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่ 6.5 เมื่อลูกโตแล้วแยกย้ายไปสร้างครอบครัวใหม่ และตนเองต้องอยู่ตามลำพังกับภรรยา

นักวิจัยต้องการค้นหาว่า ทำไมคู่สมรสบางรายจึงประสบความสำเร็จในชีวิตแต่งงาน ทั้งๆ ที่ 40 ถึง 60% ล้มเหลว? นักวิจัยได้วิเคราะห์วีดิทัศน์ที่ถ่ายทำถึงปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction) และการสนองตอบทางสรีระ (Physiological response) ของคู่สมรสหลายคู่ในช่วงเวลา 14 ปี จากข้อมูลเหล่านี้ เขาสามารถพยากรณ์ด้วยความแม่นยำว่า คู่สมรสไหนจะยังอยู่ด้วยกัน และคู่สมรสไหนจะลงเอยด้วยการหย่าร้าง (Divorce)

ในการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม นักวิจัยพบว่า คู่สมรสที่หย่าร้างกัน ได้ประสบปัญหาใหญ่ 4 ข้อ อันได้แก่

  1. คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน ใช้เวลามากไปในการวิพากษ์วิจารณ์ (Criticize) คู่สมรส
  2. คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน พยายามแก้ต่าง (Defensive) มากเกินไป เมื่อความผิดของเขา (หรือเธอ) ถูกวิพากษ์วิจารณ์
  3. คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน ดูถูกเหยียดหยาม (Contempt) คู่สมรส โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเห็นขัดแย้งกัน
  4. คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน (โดยเฉพาะสามี) ปิดกั้น หรือไม่เต็มใจที่จะพูดเกี่ยวกับปัญหา

ความเครียด (Stress) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาทั้ง 4 ข้อ ส่งผลให้คู่สมรสไม่มีความสุข และต้องทนทุกข์ทรมาน (Distressed) อยู่นานเป็นปีๆ ผลวิจัยยังพบอีกว่า คู่สมรสที่อยู่กินกันอย่างมีความสุข จะมีประสบการณ์ในเชิงบวกอย่างน้อย 5 เท่าของประสบการณ์ในเชิงลบ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่สมรสที่เริ่มไม่มีความสุขและหย่าร้างในเวลาต่อมา ก็มีจำนวนครั้งของประสบการณ์ในเชิงบวก เท่าๆ กับประการณ์ในเชิงลบ

ในบางกรณี คู่สมรสที่มีความสัมพันธ์อย่างไม่มีความสุข อาจไม่รู้ว่าเกิดผิดพลาดอะไร หรืออาจไม่มีทักษะทางสังคมหรือการสื่อสารที่จำเป็น [ต่อการดำรงชีวิตคู่] คู่สมรสที่เข้าร่วมในโปรแกรมวิธีบริหารความขัดแย้ง และการเรียนรู้ทักษะการสื่อสารที่ได้ประสิทธิผล แสดงให้เห็นถึงอัตราที่ต่ำของการหย่าร้างและความรุนแรงภายในครอบครัว (Domestic violence) [จากการทะเลาะวิวาท]

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Love - http://en.wikipedia.org/wiki/Love [2015, August 1].