จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 124: พลังจิตเหนือกาย (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-124

หนึ่งในจำนวนการค้นพบจากการวิจัยที่น่าประหลาดใจ (Amazing) ก็คือ ยาเม็ดน้ำตาลสามารถ “หลอก” (Trick) เราให้มีความรู้สึกว่าดีขึ้นได้ ในการวิจัยครั้งหนึ่ง ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร (Population) รายงานผลว่า อาการเจ็บปวดได้ลดลง หลังจากกินยาเม็ด โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นเพียงยาเม็ดน้ำตาล หรือ “ยาหลอก” (Placebo)

ยาหลอก คือวิธีการแทรกแซงเพื่อแก้ไข (Intervention) อาทิ กินยาเม็ด ได้รับยาฉีด (Injection) หรือได้รับการผ่าตัด ซึ่งคล้ายคลึงกับ (Resemble) การบำบัด (Therapy) ทางการแพทย์ แต่ความจริงแล้ว ไม่มีผลทางการแพทย์แต่อย่างใด ส่วนผลกระทบของยาหลอก (Placebo effect) คือการเปลี่ยนแปลงในความเจ็บป่วยที่ดีขึ้นหรือเลวลง อันสืบเนื่องจากความเชื่อหรือความคาดหวังของผู้ป่วยว่าได้รับการรักษา (Treatment) แล้ว

ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้คนกินยาเม็ดแก้ปวดศีรษะ และเชื่อหรือคาดหวังว่า ยาดังกล่าวจะบรรเทาความปวด ประมาณ 30% ถึง 60% ของผู้คนเหล่านั้น จะรู้สึกว่าความเจ็บปวดลดลง ทั้งๆ ที่กินยาหลอกเข้าไป

เนื่องจากผลกระทบของยาหลอกที่อาจเกิดขึ้น หลังการกินยาเม็ด หลังการรับการฉีดยา หรือหลังการทำหัตถการ (Medical procedure) นักวิจัยจำเป็นต้องหาวิธีแยกแยะความเชื่อหรือความคาดหวัง ออกจากผลกระทบที่แท้จริงของยาใหม่ หรือของการรักษา เรียกว่า “การออกแบบตาบอด 2 ชั้น” (Double-blind design)

ในวิธีการดังกล่าว ทั้งนักวิจัย (ตาบอดชั้นแรก) และผู้รับการทดสอบ (Subject) (ตาบอดชั้นที่ 2) ต่างไม่ทราบว่า ใครได้รับการรักษาอะไร ความคาดหวังของทั้ง 2 กลุ่ม จึงมีโอกาสเท่ากันที่ส่งผลกระทบต่อการกินยาจริงกับยาหลอก

ตัวอย่างเช่น ในการออกแบบตาบอด 2 ชั้น ผู้มีอาการปวดศีรษะได้รับการบอกว่า แพทย์จ่ายยาให้ 2 ชนิดที่แตกต่างกัน เพื่อลดความเจ็บปวด ทั้งนักวิจัยและผู้รับการทดสอบ ต่างไม่ทราบว่า ยาชนิดหนึ่งเป็นยาจริงและยาอีกชนิดหนึ่งเป็นยาหลอก

ถ้าผู้รับการทดสอบกินยาจริง รายงานผลว่า ความปวดได้ลดลงเหมือนกับผู้รับการทดสอบที่กินยาหลอก นักวิจัยสรุปว่า ยาจริงไม่ดีกว่ายาหลอก แต่ถ้าผู้รับการทดสอบที่กินยาจริง แล้วรายงานผลว่า ความปวดได้ลดลงมากกว่าผู้รับการทดสอบที่กินยาหลอก นักวิจัยสรุปว่า ยาจริงมีประโยชน์ทางการแพทย์ (Medically useful) เพราะได้ผลดีกว่ายาหลอก

ใน 35 ปีที่ผ่านมา มีการทดลอง (Experiment) แบบตาบอด 2 ชั้น หลายร้อยครั้ง พบว่า 30% ถึง 98% ของผู้รับการทดลอง ได้รายงานผลกระทบที่เป็นประโยชน์ หลังการกินยาหลอก สิ่งที่ตามมา (Consequence) ก็คือตัวอย่างของการค้นพบเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อและความคาดหวัง สามารถเปลี่ยนยาหลอกให้กลายเป็นยาจริงที่ทรงพลัง (Powerful)

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. The Power of Mind over Body: How to Stay Well: http://www.psitek.net/pages/PsiTekHTSW15.html#gsc.tab=0 [2017, August 26].