จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 99: ความทรงจำของสักขีพยาน (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

นักวิจัยพบว่า ในการอ่านข้อความ (Statement) ของสักขีพยานในชั้นศาล การตัดสินใจ (Judgment) เกี่ยวกับความถูกต้องแม่นยำของผู้อ่าน มีแนวโน้มไปตามความถูกต้องแม่นยำในมุมมอง (Perceived accuracy) มากกว่าไปตามอายุในมุมมอง (Perceived age) กล่าวคือเป็นเรื่องของเนื้อหา (Content) มากกว่าคุณสมบัติเหมารวม (Stereotype) ของอายุของผู้ที่เป็นสักขีพยาน

บทสรุปจากการวิจัยหลายชิ้นก็คือ ไม่มีความแตกต่าง (หรือมีน้อยมาก) อย่างมีนัยสำคัญในอายุของผู้ระลึกได้ในจุดหลัก (Gist) ของเนื้อเรื่อง แต่ความทรงจำในรายละเอียดอาจเสื่อมถอยลงในผู้สูงอายุ ซึ่งมักทำคะแนนได้ต่ำในการทดสอบเชาว์ปัญญา (Intelligence) [เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่วัยต้น]

ดั้งนั้น แม้ว่าผู้สูงอายุที่เป็นสักขีพยานจะให้การ (Testimony) อย่างถูกต้องแม่นยำในจุดหลัก (Main point) ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่สำคัญสุดในคดีความก็ตาม แต่ทนายความฝ่ายค้าน สามารถลดความน่าเชื่อถือ (Discredit) คำให้การดังกล่าวทันที โดยท้าทายการระลึก (Recall) ถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้อง (Irrelevant) กับคดีโดยตรง

แต่การกระทำของทนายความดังกล่าว อาจลดการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) [และความเชื่อมั่น (Confidence)] ของผู้สูงอายุที่เป็นสักขีพยาน ส่งผลให้ความทรงจำของผู้สูงอายุ มีภาพในเชิงลบ (Gloomy) และทำให้คำให้การของเขาในชั้นศาลมีน้ำหนัก (Credibility) ลดลง แม้ว่าผู้สูงอายุมักถูกมองว่า มีความซื่อตรง (Honest) กว่าก็ตาม

ในสถานการณ์ที่เป็นจริง ความบกพร่องทางประสาทสัมผัส (Sensory) ในเรื่องมุมมอง (Perception) ของผู้สูงอายุ ไม่อาจชดเชยได้ (Compensated for) แต่ความสำคัญของความทรงจำอยู่ที่เนื้อหาที่ระลึกได้ (Text recall) ซึ่งมักมีความสัมพันธ์โดยตรง (Strongly linked) กับทักษะทางภาษา (Linguistic skill)

อีกส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับความทรงจำของผู้สูงอายุ คือ ความทรงจำอาศัยความหมาย (Semantic memory) อันเป็นความทรงจำที่ระลึกได้ (Recallable) ของความรู้ ความจริง ตัวเลข และข้อมูลเชิงแนวความคิด (Conceptual) เราอาจจำไม่ได้ว่า โคลัมบัสค้นพบอเมริกาในปีไหน? หรือส่วนประกอบทางเคมีของน้ำคืออะไร? แต่เรายังคงจดจำข้อมูลที่เป็นจริงบางส่วนได้

ความทรงจำอาศัยความหมาย อาจอยู่รอดได้ (Survive) ในผู้สูงอายุ ในสภาวะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ (Robust) เพราะความทรงจำนี้เป็นส่วนหนึ่งของเชาว์ปัญญาผลึก (Crystallized intelligence) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มิได้ผันแปรไปตามอายุ (Age-invariant) อันที่จริงผู้สูงอายุสามารถระลึกถึงข้อมูลที่เป็นจริง ได้พอๆ กับ (หรือดีกว่า) ผู้ใหญ่วัยต้น เนื่องจากความทรงจำประเภทนี้ ดูเหมือนจะถูกกระจาย (Distributed) ไปทั่วเปลือกสมองส่วนนอก (Cortex) แทนที่จะอยู่ในตำแหน่งของอาณาบริเวณเฉพาะ (Specific region)

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Eyewitness testimony - https://en.wikipedia.org/wiki/Eyewitness_testimony[2017, March 7].