จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 92: ความทรงจำระยะสั้น (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ในงานที่ระลึกได้ตามลำดับ (Ordered recall) ผู้เข้าร่วมการวิจัย (Participant) จะทำเครื่องหมายถูกหน้ารายการทั้งหมดที่ทวนซ้ำ (Repeat) ในลำดับที่แม่นยำ (Exact order) ตามที่เห็นจากการนำเสนอ (Presentation) ตัวอย่างเช่น หากรายการที่นำเสนอเป็น 13579 ผู้เข้าร่วมการวิจัยต้องระลึกถึง 13579 อย่างถูกต้องแม่นยำ การระลึกถึงเพียง 97531 นั้น ไม่เพียงพอ

แต่ในงานที่ยอมให้ระลึกได้อย่างอิสระ (Free recall) ลำดับของการระลึกได้มิใช่เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ตัวเลขอาจเป็น 17359 หรือ 75391 ก็ยอมรับกันได้ ส่วนงานที่ “จำได้” (Recognition) อาจง่ายกว่า งานที่ “ระลึกได้” (Recall) แม้ว่าทั้ง 2 วิธีอาจเริ่มต้นเหมือนกัน โดยได้รับการนำเสนอรายชื่อคำที่ควรจดจำ (To-be-remembered : TBR) เดียวกัน

ในงานที่ “จำได้” ความทรงจำของผู้เข้าร่วมการวิจัย จะได้รับการทดสอบโดยการเลือกรายการเขาเห็น หรือเป้าหมาย (Target) รวมทั้งรายการที่มิอยู่ในรายชื่อเดิม หรือสิ่งบิดเบือน (Distractor) ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีแนวโน้มที่จะจดจำรายการในงานที่ “จำได้” มากกว่าในงานที่ “ระลึกได้” เพราะภาระ (Load) ความทรงจำที่น้อยกว่า

แต่กระบวนการของทั้ง 2 วิธี เกือบจะถูกควบคุมทั้งหมดโดยกลไกทางจิต (Mental mechanism) ที่แตกต่างกัน สำหรับในงานที่ “สื่อเป็นนัย” (Cued task) ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะได้รับการบอกใบ้ (Hint) คำตอบ อาทิ อักษร 2 – 3 ตัวแรกของ TBR การศึกษาเหล่านี้นำไปสู่คำถามที่น่าสนใจสำหรับนักวิจัย กล่าวคือ ชราภาพมีผลกระทบต่อความทรงจำอย่างไร?

การศึกษาหลายๆ ครั้งได้สาธิต (Demonstrate) ให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้รับการทดสอบช่วงเวลาของความจำระยะสั้น (Short-term memory : STM) สามารถกระทำซ้ำ (Repeat) ในสิ่งที่นักวิจัยได้พูดหรือแสดงให้เห็น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่จะเริ่มมีความเสื่อมถอย (Decline) ในบั้นปลายของชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อเพิ่มความต้องการ (Extra demand) [หรือความคาดหวัง] จากผู้เข้าร่วมการวิจัย ผลกระทบจากอายุ จะเริ่มเห็นเด่นชัด (Pronounced) การวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยที่รวบรวมได้ (Meta-analysis) พบค่าเฉลี่ยช่วงอายุ (Mean span) [ของการจำย้อนหลัง (Backward)] อยู่ 7.6 ปีในผู้ใหญ่วัยต้น (Young adult) เปรียบเทียบกับ 7.1 ปีของผู้สูงอายุ

ความแตกต่างนี้ จะทวีขึ้น เมื่องาน [ที่ต้องจดจำ] ยิ่งซับซ้อน (Complex) ขึ้น วิธีหนึ่งของการทำให้งานของความจำระยะสั้นสับสน (Complicated) มากขึ้น คือกระบวนงาน (Procedure) ของช่วงเวลาการจำย้อนหลัง ซึ่งให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยกระทำซ้ำแต่ในลำดับกลับกัน (Reverse order) ของการนำเสนอ

ตัวอย่างเช่น หากรายการ TBR เป็น 75123 ผู้เข้าร่วมการวิจัยต้องตอบว่า 32157 ซึ่งเป็นการระลึกได้ที่ยากกว่า “การระลึกตรงไปตรงมา” (Straightforward recall) เนื่องจากผู้เข้าร่วมการวิจัยต้องมีรายการนี้ในความทรงจำในลำดับที่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกัน (Simultaneously) สมองก็ต้องทำงานในลำดับกลับกัน การทำงานนี้เรียกว่า “ความทรงจำปฏิบัติงาน” (Working memory) ซึ่งผลการวิจัยสรุปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติว่า ผู้สูงอายุไม่สันทัดในความทรงจำประเภทนี้

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Short-Term Memory - http://www.brainhq.com/brain-resources/memory/types-of-memory/short-term-memory[2016, January 17].