จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 8 : การสูญเสียความทรงจำ

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ผู้ใหญ่วัยต้น (Young adult) มักจดจำภาพใหญ่ และรายละเอียด แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นถึง 50 ปี 60 ปี และ 70 ปี ก็จะบ่นเกี่ยวกับความทรงจำซึ่งจะเริ่มลืมรายละเอียด (อาทิ ชื่อ สถานที่ และร้านสะดวกซื้อ) แม้สิ่งเหล่านี้อาจไม่สำคัญ แต่ก็รู้สึกรำคาญ (Bothersome) ไม่น้อย

ความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่อายุ 20 ปี กับ 50 ปี ก็คือ ผู้ใหญ่วัยต้น มักเก่ง (Excel) ในเรื่องการใส่ (Encode) (แล้วเก็บ) ข้อมูล และจำจดรายละเอียดจำนวนมาก แต่ไม่เก่งในการเข้าใจเหตุผล (Make sense) หรือความหมายของรายละเอียด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่วัยเต็มที่ (Mature) ที่เก่งในการเข้าใจเหตุผลของข้อมูล แต่ก็หลงลืมได้ง่ายเกี่ยวกับปลีกย่อย

หลังจากอายุ 60 ปี ผู้คนมักกังวลเกี่ยวกับปัญหาความทรงจำ ตัวอย่างเช่น ศาตราจารย์คนหนึ่งอายุ 69 ปี ต้องการรู้ว่า เธอได้สูญเสียความทรงจำหรือไม่ เพราะเธอนึกไม่ออกจริงๆ ถึงชื่อของอาจารย์ใหม่ๆ จำนวนนักศึกษาในชั้น เมื่อเธอสั่งซื้ออุปกรณ์หูฟัง (Audio equipment) ให้ทั้งชั้น และเช้าวันหนึ่ง เธอก็นึกไม่ออกถึงชื่อเครื่องมือที่ใช้ในการพลิกไข่บนกะทะ [ตะหลิว]

อย่างไรก็ตาม เมื่อแพทย์ได้ตรวจร่างกายแล้ว ก็บอกเธอว่า เธอเพียงแต่ประสบปัญหาความทรงจำเล็กน้อย ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้คนที่มีอาย 60 ปี ขึ้นไป และเป็นการหลงลืมตามปรกติ นักวิจัยรายงานว่า การเสื่อมลงของทักษะความทรงจำ ตามที่ศาสตราจารย์ผู้นี้แสดงออก เป็นผลจากการชะลอลงของความเร็วในการประมวล [ข้อมูล] (Processing speed) อันเป็นสัญญาณของชราภาพ (Aging) ตามปรกติ

เนื่องจากชราภาพ (โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่อายุ 40 ปี และ 50 ปี) มีความสัมพันธ์กับปัญหาความทรงจำ ชาวอเมริกันจึงใช้เงินเป็นจำนวนนับพันล้านดอลลาร์ ในการปรับปรุงสินค้าและบริการต่างๆ ที่เสนอขาย ตั้งแต่หลักสูตรความทรงจำ (Memory) ไปจนถึงอาหารเสริม (Food supplements)

ตัวอย่างเช่น ชาวอเมริกันใช้เงินปีละ 350 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7,000 ล้านบาท) ไปกับอาหารเสริมนานาชนิด อาทิ ใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณว่า สามารถปรับปรุงความทรงจำได้ แต่ก็ยังไม่เคยได้รับการทดสอบอย่างจริงจัง (Rigorous) และขณะนี้ สรรพคุณดังกล่าว ก็ยังไม่เป็นที่พิสูจน์จนแน่ชัด

ผู้เชี่ยวชาญความทรงจำ (Memory expert) ได้แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับปัญหาความทรงจำที่สัมพันธ์กับชราภาพ คือการพยายามรักษาความสมบูรณ์ (Fitness) ของร่างกาย (อาทิ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ) และความสมบูรณ์ของจิตใจ (อาทิ การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการรับรู้ [Cognitive] เช่น การอ่านหนังสือ การเรียนหนังสือ และการเล่นปริศนาอักษรไขว้ [Cross-words])

ผู้สูงอายุ มักมีความสามารถในการฟื้นฟู (Re-generative) ลดน้อยถอยลง และมีโนวโน้ม (Prone) ที่จะเป็นโรค กลุ่มอาการ และไม่สบาย มากกว่าผูใหญ่วัยต้น ผู้สูงวัยจะเผชิญกับประเด็นต่างๆ ทางสังคม อาทิ การเกษียณจากงาน ความรู้สึกว้าเหว่ที่ต้องอยู่โดดเดี่ยว และชราภาพ

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Memory and aging - http://en.wikipedia.org/wiki/Memory_and_aging [2015, June 9].