จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 76: การจัดระเบียบแนวความคิด (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ความสามารถในการปฏิบัติต่อสิ่งของ ณ ระดับนามธรรม (Abstract) เพื่อเปิดเผย (Uncover) กฎเกณฑ์และหลักการ เรียกว่า “การจัดระเบียบแนวความคิด” (Conceptual organization) ซึ่งมักจะถูกวัดผลด้วยการใช้รูปร่าง (Shape) และสัญลักษณ์ (Symbol) ตามกฎเกณฑ์ที่แยกประเภทกลุ่ม กำหนดโดยผู้ทดลอง (Experimenter)

ส่วนงานของผู้เข้าร่วมการวิจัย (Participant) คือการค้นหากฎเกณฑ์เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ทุกรูปร่างจะถูกรวมกลุ่มตามสี โดยไม่คำนึงถึงขนาด นักวิจัยพบว่า ในหลายๆ กรณี ผู้สูงวัยประสบความลำบากในการแยกแยะ (Sorting) งานเหล่านี้ อีกการทดสอบหนึ่งของความสามารถในแนวความคิด ก็คืองานประเภท 20 คำถาม

20 คำถาม เป็นเกมที่ผู้เข้าแข่งขัน ได้รับการบอกกล่าวว่า ผู้ทดลองกำลังคิดถึงวัตถุหนึ่ง และให้ผู้เข้าแข่งขันตั้งคำถามต่อเนื่อง (Series) ป้อนให้ผู้ทดลอง ซึ่งต้องตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เท่านั้น จากนั้นผู้เข้าแข่งขันพยายามทาย (Elicit) ชื่อของวัตถุนั้น กลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด (Optimal) คือการตีวงให้แคบลง โดยตั้งคำถามที่ค่อยๆ จำกัดทางเลือก

กลยุทธ์ที่ใช้อาจเป็นการแสวงหาข้อจำกัด (Constraint seeking) โดยที่ทางเลือกจะค่อยๆ เพิ่มความเป็นไปได้ หลังจากแต่ละคำถาม จากนั้นอาจเปลี่ยน (Switch) ไปเป็นการกวาดส่องข้อสมมุติฐาน (Hypothesis scanning) ที่เฉพาะเจาะจงลงไป ในที่สุด (Eventually) รายการ [ทางเลือก] ก็จะถูกกำจัดให้เหลือน้อยลงจนได้คำตอบสุดท้าย

นักวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยไม่มีประสิทธิภาพในงาน 20 คำถาม จึงต้องตั้งคำถามมากกว่าจำนวนนี้ กว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้อง เนื่องจากผู้สูงวัยไม่สันทัดในกลยุทธการแสวงหาข้อจำกัด จึงค่อนข้างจะด้อยกว่าในลักษณะเปรียบเทียบ (Analogous fashion) เมื่อได้รับรายการที่ต้องแบ่งกันเป็นกลุ่มย่อยลง

การเสื่อมถอยในทักษะแยกประเภท (Categorization) สืบเนื่องมาจากผลที่ไม่พึงประสงค์ (Artefact) ของความทรงจำที่เสื่อมถอยลง กล่าวคือผู้สูงวัย ไม่สามารถเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต่อการแยกแยะไว้ในใจในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่า ภาระของความทรงจำ (Memory load) ไม่มีผลกระทบต่อผลปฏิบัติการ (Performance)

ปัจจัยอื่นๆ อาทิ ระดับการศึกษา และการเป็นรุ่นราวคราวเดียวกัน (Cohort) ในความรู้ของการรับมือกับงานแยกประเภท ก็ไม่สามารถอธิบายได้หมดเช่นกัน นักวิจัยยังพบว่า แม้ว่าผู้สูงวัยจะสามารถเรียนรู้กฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการของงานแยกประเภท แต่ก็สู้ผู้เยาว์วัยไม่ได้ในเรื่องการบูรณาการข้อมูล (Information integration) ที่จำเป็นต่อการใช้กฎเกณฑ์

กล่าวคือผู้สูงวัยรู้สิ่งที่ต้องทำในหลักการ แต่ไม่สันทัดในทางปฏิบัติ กระบวนการเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุน (Underpin) โดยทักษะการขัดขวาง (Inhibition) ร่วมกับความทรงจำในการทำงาน (Working memory) ซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวต่อชราภาพ

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Conceptual organization - http://groups.psych.northwestern.edu/waxman/conceptualorganization.pdf [2016, September 27].