จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 7 : ความเร็วของการรับรู้

จิตวิทยาผู้สูงวัย

เมื่อย่างเข้าช่วงอายุ 40 ปี และต่อเนื่องไปถึงช่วงอายุ 50 ปี และ 60 ปี ความสามารถในการรับรู้ (Cognitive) จะเริ่มลดลง โดยเฉพาะความสามารถในการจดจำสิ่งของ จากอายุประมาณ 20 - 40 ปี แม้ทักษะของการรับรู้ ยังคงมีเสถียรภาพ แต่ระหว่างอายุ 40 – 80 ปี กระบวนการรับรู้จะค่อยๆ เสื่อมลง

เริ่มต้นตั้งช่วงปลายของอายุ 50 ปี ความเร็วของการประมวล [ข้อมูล] (Processing speed) จะลดน้อยถอยลง ซึ่งเป็นอัตราที่เราใส่ข้อมูล (Encode) เข้าไปในหน่วยความจำระยะยาว (Long-term memory) หรือดึง (Retrieve) ข้อมูลจากหน่วยความจำระยะยาว มาใช้งาน

ตัวอย่างเช่น ผู้มีอายุในช่วง 20 ปี จะสามารถจดจำและระลึกถึง (Recall) จำนวนคำ (Word) มากกว่าผู้มีอายุในช่วง 60 ปี ผลการวิจัย แสดงว่า ผู้สูงอายุมีปัญหามากกว่าในการใส่และเก็บรายชื่อข้อมูล (List of information) ตลอดจนความยากลำบากกว่าในการดึงข้อมูลจำเพาะมาใช้งาน

เริ่มต้นตั้งช่วงปลายของอายุ 50 ปี ความเร็วของการมองเห็น [รวมทั้งจินตนาการด้วย] (Perceptual speed) จะลดน้อยถอยลง ซึ่งเป็นอัตราที่เราสามารถแยกแยะสิ่งกระตุ้นประสาทสัมผัส (Sensory stimulus) จำเพาะ

ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยครั้งหนึ่ง ผู้เข้ารับการทดสอบ ได้รับรายชื่อคำพร้อมด้วยคำสั่งให้หา แล้วลากเส้นผ่านคำทั้งหมดที่ประกอบด้วยตัวอักษร a ในงานนี้ ผู้มีอายุ 25 ปี สามารถลากเส้นผ่านคำได้มากกกว่าผู้มีอายุ 67 ปี (กล่าวคือ 52 เปรียบเทียบกับ 48 คำ) นักวิจัยเชื่อว่า ความช้าของการมองเห็นของผู้สูงวัย เป็นผลมาจากความช้าของการใส่ข้อมูล

เริ่มต้นตั้งช่วงปลายของอายุ 50 ปี ความเร็วของการปฏิกิริยาตอบโต้ (Reaction speed) จะลดน้อยถอยลง ซึ่งเป็นอัตราที่เราสนองตอบ (เห็น ได้ยิน หรือเคลื่อนย้าย) ต่อสิ่งกระตุ้น

ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยหนึ่ง ผู้เข้ารับการทดสอบอายุ 20 – 29 ปี สามารถกดปุ่มได้เร็วที่สุด เมื่อปรากฏแสงสว่าง ในขณะที่ผู้สูงอายุ กดปุ่มได้ช้ากว่า

ความช้าในการประมวล มองเห็น และตอบโต้ สามารถอธิบายบางส่วน ว่าทำไมผู้สูงอายุ จึงสนองตอบได้ช้ากว่า เมื่อขับรถหรือเล่นกอล์ฟ และช้ากว่าในการตัดสินใจ หรือเข้าใจและทำตามคำสั่ง ความช้ากว่าเหล่านี้ ทำให้เกิดมีการจัดรอบกอล์ฟอาชีพ (Professional golf tour) สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ผู้ไม่สามารถแข่งขันกับนักกอล์ฟหนุ่มสาวทั่วไปได้

นอกจากความช้ากว่าในการประมวล การมองเห็น และการตอบโต้แล้ว ผู้สูงอายุยังประสบปัญหาของความสามารถในการจดจำอีกด้วย อันที่จริง เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปีและต่อเนื่องไปยังช่วงชราภาพ ผู้คนส่วนมาก เริ่มบ่น (Complain) ในเรื่องที่ไม่สามารถจดจำสิ่งของเหมือนแต่ก่อน

นักวิจัยค้นพบว่า ผู้ใหญ่วัยชรา (Old adult) ไม่มีความลำบากในการจดจำภาพใหญ่ (อาทิ ชื่อภาพยนตร์) แต่จะหลงลืมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ (อาทิ ใครเป็นพระเอกนางเอก?)

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Old age - http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2015, June 2].