จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 51 : การเปลี่ยนแปลงในเชาว์ปัญญา (4)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ยังมีข้อสังเกตจากการศึกษาข้ามห้วงเวลา (Longitudinal study) ซึ่งเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้อาสาสมัครจำนวนไม่น้อย ที่เข้ารับการทดสอบ (Participant) แล้วขอเลิกกลางคัน (Drop out) ซึ่งมิใช่เกิดจากความบังเอิญหรือการสุ่ม (Random) แต่เป็นเหตุผลการจูงใจ (Motivational) กล่าวคือ หากเขาทำข้อสอบไม่ได้ดีในเบื้องต้น เขาจะไม่กลับมารับการทดสอบอีก

ไม่ว่านักวิจัย จะพยายามอธิบายอย่างไร ผู้เข้ารับการทดสอบส่วนใหญ่มองการทดสอบทางจิตวิทยา เป็นการแข่งขัน (Competition) ดังนั้น หากผู้อาสาสมัครมองตนเองว่าได้ผลทดสอบเชาว์ปัญญาที่แย่ลง ก็มีแนวมโน้มที่จะไม่กลับมารับการทดสอบอีก ก่อให้เกิด “ผลกระทบของการเลิกกลางคัน” (Drop-out effect) เหลือเพียงพวก “เดนตาย” (Rump) เท่านั้น

ปัญหานี้ ยังทวีความซับซ้อน (Compounded) โดย “ผลกระทบจากการฝึกปรือ” (Practice effect) กล่าวคือ ผู้ดำรงอยู่ต่อในการศึกษาข้ามห้วงเวลา มักสามารถปรับปรุงผลการทดสอบ (Performance) อย่างมีนัยสำคัญ มิใช่เพราะผู้เข้ารับการทดสอบจดจำคำตอบจากการทดสอบครั้งล่าสุด เนื่องจากในการทดสอบต่างวาระ (Session) กันนั้น ผู้เข้ารับการทดสอบได้รับแบบทดสอบต่างฉบับ (Version) ที่มีคำถามไม่เหมือนกัน แต่มีรูปแบบ (Format) และระดับความยากง่ายเดียวกัน

อันที่จริง ปัญหาเกิดจากหลากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักก็คือการที่ผู้เข้ารับการทดสอบมีความฉลาดขึ้นจากการทดสอบ (Test wise) เพราะเขาเริ่มมีความคุ้นเคยกับวิธีปฏิบัติ (Procedure) อาทิ เริ่มเรียนรู้การทำงานของแบบทดสอบทางจิตวิทยา จึงทำคะแนนทดสอบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ข้อบกพร่อง (Flaw) ของการศึกษาข้ามห้วงเวลา คือการประเมินผลกระทบของชราภาพต่อเชาว์ปัญญา ต่ำกว่าความเป็นจริง ในขณะที่การศึกษาในเวลาเดียวกัน (Cross-sectional study) ก็คงจะประเมินผลกระทบของชราภาพต่อเชาว์ปัญญา เกินกว่าความเป็นจริง

ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า ผลกระทบจากการฝึกปรือ สามารถบดบัง (Mask) อัตราเสื่อมลงในเชาว์ปัญญา ใน 17 ปีของการศึกษาข้ามห้วงเวลาในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า ผลกระทบจากการฝึกปรือ จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และแบบทดสอบบนพื้นฐานของความจำ แสดงผลกระทบจากการฝึกปรือ มากกว่ามาตรวัด (Measure) ของความเร็วในการสนองตอบ (Speed of response) [ต่อสิ่งเร้า] จึงต้องระมัดระวัง (Caution) ในการแปรผล (Interpretation)

อีกงานวิจัยหนึ่ง แสดงผลการลดลงในทักษะเชาว์ปัญญา ในส่วนมากของช่วงวัยผู้ใหญ่ (Adult life-span) หลังจากการบรรลุสุดยอดในช่วงปลายของวัยรุ่น (Adolescence) ถึงช่วงต้นของผู้ใหญ่ โดยจะเริ่มเสื่อมลงในเชาว์ปัญญาในช่วงปลายของอายุ 20 กว่าปี ดังนั้น เส้นโค้งอายุแต่ดั้งเดิม (Classic aging curve) จะดำรงรูปแบบที่ราบสูง (Plateau) ได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า คลื่นลูกใหม่ (New wave) ของการวิจัย ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในเรื่องชราภาพ ที่ดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน (Complex) ยิ่งขึ้นด้วยวิธีทางสถิติ แต่ก็เป็นสิ่งที่คาดหวังกันว่าเป็นส่วนสำคัญ (Part and parcel) ในกระบวนการวิจัย (Research process)

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Does Intelligence Decline with Aging? - http://mentalhealth.about.com/library/sci/1001/bloldsmart1001.htm[2016, April 5].