จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 28: ต้นทุนของอายุยืน (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

การเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มากขึ้น จะมีโอกาส (Potential) สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ-สังคม เพราะสัดส่วนที่น้อยของผู้ใหญ่วัยทำงาน ทำให้ผู้ที่เสียภาษีโดยตรง (Direct taxation) (อาทิ ภาษีเงินได้ และ ค่าประกันสังคมแห่งชาติ [National Insurance]) เป็นเศษส่วน (Fraction) ที่น้อยลงด้วย

ภาษีดังกล่าว เป็น “กระดูกสันหลัง” (Backbone) ของเงินทุน (Fund) ที่ใช้สนับสนุนโครงการ (Scheme) ต่างๆ อาทิ กองทุนบำนาญ (Pension) ของรัฐ และกองทุนสุขภาพแห่งชาติ (National healthcare) ในประเทศส่วนมาก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็เป็นผู้รับเงินบำนาญและได้ประโยชน์จากบริการดูแลสุขภาพดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลง [ของชนรุ่นผม] สีเทา (Grey shift) สร้างให้เกิดความต้องการบริการที่ส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนที่ผู้ทำงาน (Workforce) จ่ายให้ แต่ผู้ทำงานกลุ่มนี้ จะมีสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อยๆ วิธีการง่ายๆ ของการแสดงภาพนี้ก็คือ การคำนวณอัตราส่วนของผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น (Old age dependency ratio)

อัตราส่วนดังกล่าว คำนวณโดยการเอาจำนวนผู้ที่รับบำนาญ (Pensionable age) หารด้วยจำนวนผู้ที่ทำงาน (Working age) ซึ่งผลลัพธ์ จะอยู่ที่ 1 ใน 5 สำหรับประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว แต่คาดกันว่า อัตราส่วนนี้จะสูงขึ้นถึง 1 ใน 3 เมื่อถึงปี พ.ศ. 2583

ในกรณีของประเทศอังกฤษ ตัวเลขปัจจุบันอยู่ในราว 27% แต่คาดกันว่า ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นถึง 50% ในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งเป็นช่วงของระเบิดเวลาประชากร (Demographic time bomb) อันเป็นภาระทางการเงินที่มีโอกาสเกิดหายนะสูงมาก (Potentially catastrophic) ต่อระบบเศรษฐกิจ ที่มีสาเหตุมากจากประชากร [ผม] สีเทา (Grey population)

ในหลายทศวรรษหลังจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศต้องหมกมุ่น (Pre-occupation) อยู่กับการรับมือปัญหานี้ กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของกองทุนบำนาญ และสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพ ทางออกหนึ่งคือการขยายอายุเกษียณของผู้สูงวัย ซึ่งกำลังดำเนินไปอยู่ในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว

ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ (จากอายุ 65 เป็น 68 ปี ภายในปี พ.ศ. 2587) เยอรมนี (จากอายุ 65 เป็น 67 ปี ภายในปี พ.ศ. 2574) และสหรัฐอเมริกา (จากอายุ 65 เป็น 67 ปี ภายในปี พ.ศ. 2570) แม้จะมีผู้คัดค้าน (Protest) ที่ไม่เห็นด้วย ตัวอย่างเช่น ในประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2553 อายุบำนาญของข้าราชการ ได้เพิ่มขึ้นจาก 60 เป็น 62 ปี ส่งผลให้เกิดการคัดค้านและนัดหยุดงาน (Strike) ไปทั่ว

อีกทางออกหนึ่ง คือการลดเงินบำนาญลง (อาทิ ไม่เชื่อมโยงกับเงินเดือนสุดท้าย) ซึ่งแม้จะมีเหตุผลทางการเงิน แต่ก็เป็นที่น่าตำหนิ (Reprehensible) สำหรับผู้ใกล้เกษียณที่ได้ลงทุนอย่างสุจริตใจ (Good faith) มาก่อนหน้านี้

แหล่งข้อมูล

1.Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2.The Rising Cost of Living Longer - http://kff.org/medicare/report/the-rising-cost-of-living-longer-analysis-of-medicare-spending-by-age-for-beneficiaries-in-traditional-medicare/ [2015, October 27].